คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1195/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าเจาะจงตัวจำเลยที่ 2 ว่าเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัท ส.จำกัด ไม่ต้องระบุว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 2 การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์นั่งรถยนต์รับจ้างสามล้อที่ ก.เป็นผู้ขับขี่แล่นมาถึงบริเวณใกล้ที่พักผู้โดยสารประจำทางใกล้สะพานสท้านนภา โฉมหน้าจากสถานีขนส่งสายใต้ไปทางสามแยกท่าพระถูกรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 81 คันหมายเลขทะเบียน กท. จ.3991 พุ่งเข้าชนนั้นย่อมชัดแจ้งเข้าใจได้แล้วว่ารถชนกันที่ใด ส่วนค่าเสียหายโจทก์ก็บรรยายฟ้องแยกชนิดประเภทความเสียหายว่าเป็นเงินส่วนละเท่าใด ความเสียหายที่ทำให้โจทก์เสียฆานประสาทก็บรรยายว่าไม่อาจรับความรู้สึกในการดมกลิ่นอีกฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิด ไม่ได้ฟ้องเกี่ยวกับสินสมรถเป็นการฟ้องตามสิทธิที่มีอยู่เป็นการเฉพาะตัว จึงไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากสามี
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในมูลละเมิดภายในกำหนดอายุความ แต่ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องที่เกี่ยวกับค่าเสียหายในภายหลัง คำฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายดังกล่าวไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์โดยสารประจำทางคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 มาวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับจำเลยที่ 3 ในเส้นทางเดินรถของจำเลยที่ 3 พนักงานเก็บเงินค่าโดยสารของรถยนต์โดยสารประจำทางดังกล่าวก็เป็นพนักงานของจำเลยที่ 3 จึงถือได้ว่าการนำรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 เข้ามาแล่นในเส้นทางสัมปทานที่จำเลยที่ 3 ได้รับจากรัฐบาลเป็นกิจการของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์นั่งรถยนต์รับจ้างสามล้อซึ่งมี บ. เป็นผู้ขับขี่เพื่อไปโรงพยาบาลศิริราช เมื่อรถแล่นมาถึงบริเวณที่พักผู้โดยสารรถประจำทางใกล้สะพานสท้านนภา ในช่องทางเดินรถช่องกลางถนนมีรถยนต์โดยสารประจำทางสาย ๘๑ คันหมายเลขทะเบียน กท.จ.๓๙๙๑ ซึ่งขับขี่โดยจำเลยที่ ๑ ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ด้วยความเร็วพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์รับจ้างสามล้อคันที่โจทก์นั่งพลิกคว่ำลงเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล ๒ เดือน เสียค่าจ้างพยาบาล ๒,๕๐๐ บาท ค่าไฟฟ้า ๑,๐๐๐ บาท ค่าห้องพัก ๗,๘๐๐ บาท รวม ๑๑,๓๐๐ บาท และแพทย์ให้พักรักษาที่บ้านอีก ๑ เดือน แต่ต้องรับการรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัดเสียเงินค่าจ้างรถแท็กซี่จากบ้านไปโรงพยาบาลวันละ ๑๕๐ บาท เป็นเงิน ๑,๕๐๐ บาท โจทก์มีอาชีพพยาบาล เมื่อต้องพักรักษาตัวทำให้ไม่ได้รับจ้างเฝ้าไข้พิเศษนอกเวลาราชการต้องเสียรายได้ไปวันละ ๒๐๐ บาท ตลอดเวลา ๓ เดือน เป็นเงิน ๑๘,๐๐๐ บาท โจทก์ต้องเสียโฉม อย่างติดตัว และไม่อาจรับความรู้สึกในการดมกลิ่น ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิด
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายตามที่ยื่นคำร้องขอ – แก้ฟ้องนั้นขาดอายุความแล้วเพราะโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องเกิน ๑ ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องและรู้ตัวผู้พึงจะใช้ค่าเสียหายฐานละเมิด จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ประมาท ค่าเสียหายมากเกินสมควร ขอให้พิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากสามีให้ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ ๑ มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ และขณะเกิดเหตุมิได้กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๓ เหตุที่รถชนกันเนื่องจากความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างสามล้อ ค่ารักษาพยาบาลโจทก์ไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท ค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลย ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน ๘๖,๒๑๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิด
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรกมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า บุคคลใดเป็นผู้รับผิดชอบกระทำการแทนจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนิติบุคคล และไม่บรรยายให้ชัดเจนว่ารถคันใดชนกันที่ใดทั้งไม่บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับค่าเสียหายว่าค่าจ้างพยาบาลเฝ้าไข้ ค่าไฟฟ้า ค่าห้องพิเศษคิดอัตราวันละเท่าใด และโจทก์เสียหายประสาทอย่างไร ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องเจาะจงตัวจำเลยที่ ๒ แล้วว่าเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดใช้ชื่อว่า บริษัทสหธนขนส่งธนบุรี จำกัด ส่วนผู้ใดเป็นผู้รับผิดชอบกระทำการแทนก็เป็นเรื่องภายในของจำเลยที่ ๒ เอง จึงไม่ต้องระบุว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำการแทน ส่วนรถชนกันนั้นโจทก์บรรยายระบุว่ารถยนต์รับจ้างสามล้อที่นายบุญชอบ อุตราสัมภ์ เป็นผู้ขับขี่วิ่งระหว่างสถานีขนส่งสายใต้ถึงท่าน้ำศิริราชขณะเกิดเหตุรถยนต์รับจ้างสามล้อแล่นมาถึงบริเวณใกล้ที่พักผู้โดยสารประจำทางใกล้สะพานสท้านนภา โฉมหน้าจากสถานีขนส่งสายใต้ไปทางสามแยกท่าพระ มีรถยนต์โดยสารประจำทางสาย ๘๑ คันหมายเลขทะเบียน กท.จ.๓๙๙๑ พุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์รับจ้างสามล้อคันที่โจทก์นั่งมา เป็นการบรรยายที่ชัดแจ้งเข้าใจได้แล้วว่ารถชนกันที่ใด ส่วนค่าเสียหายโจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องแยกชนิดประเภทความเสียหายเป็นเงินส่วนละเท่าใดแล้วความเสียหายทำให้โจทก์เสียฆานประสาทโจทก์ก็ได้บรรยายแล้วว่าไม่อาจรับความรู้สึกในการดมกลิ่นได้อีก ส่วนค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าจ้างเฝ้าไข้ ค่าไฟฟ้า ค่าห้องพิเศษ อัตราวันละเท่าใดนั้น เป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นการแสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒
ปัญหาข้อ ๒ เกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยสามีมิได้ยินยอม หลังจากโจทก์ฟ้องแล้วโจทก์ส่งหนังสือความยินยอมของสามีตามเอกสารหมาย จ.๖ การกระทำดังกล่าวไม่เป็นการแก้ไขข้อบกพร่องให้ถูกต้องตามกฎหมาย เห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่เป็นการเฉพาะตัว ไม่ได้ฟ้องเกี่ยวกับสินสมรสแต่อย่างใด แม้โจทก์จะมีสามีก้ไม่จำต้องให้สามีให้ความยินยอม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาข้อ ๓ ที่ว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า เดิมโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑๒๓,๑๙๕ บาท ต่อมาได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมทุนทรัพย์เป็นจำนวนเงิน ๑๔๐,๖๑๐ บาท โดยอ้างว่ามิได้เรียกค่ายาและค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียหายส่วนที่เกินจึงขาดอายุความ เพราะโจทก์ขอเพิ่มเติมเกิน ๑ ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้ที่จะใช้ค่าเสียหายแล้ว เห็นว่าเกี่ยวกับคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องให้จำเลทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในมูลละเมิดภายในกำหนด อายุความ การที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายในภายหลังก็หาทำให้คำฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์เกี่ยวกับค่า เสียหายขาดอายุความดังที่จำเลยที่ ๒ กล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่คดีโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาข้อที่ ๔ ที่ว่าจำเลยที่ ๑ ขับรถโดยประมาทหรือไม่นั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์โดยสารประจำทางโดยประมาทฝ่ายเดียว
ปัญหาข้อ ๕ ที่ว่า จำเลยที่ ๓ ต้องร่วมรับผิดในการที่จำเลยที่ ๑ ขับรถโดยประมาทหรือไม่นั้น เห็นว่าแม้จำเลยที่ ๓ จะมิได้เป็นนายจ้างจำเลยที่ ๑ ก็ตาม แต่กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นพยาน จำเลยที่ ๒ เบิกความว่า รถยนต์โดยสารประจำทางคันเกิดเหตุซึ่งเป็นของจำเลยที่ ๒ นั้น จำเลยที่ ๒ ได้นำมาวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับจำเลยที่ ๓ ในเส้นทางการเดินรถของจำเลยที่ ๓ และปรากฏว่าพนักงานเก็บเงินค่าโดยสารของรถยนต์โดยสารประจำทางดังกล่าวก็เป็นพนักงานของจำเลยที่ ๓ จึงถือได้ว่าการนำรถโดยสารของจำเลยที่ ๒ เข้ามาแล่นในสัมปทานที่จำเลยที่ ๓ ได้รับจากรัฐบาลเป็นกิจการของจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๑ ก็เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ ด้วย จำเลยที่ ๓ จะปฏิเสธความรับผิดในการที่จำเลยที่ ๑ ขับรถโดยประมาทหาได้ไม่ ฯลฯ
พิพากษายืน

Share