แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า เดิมมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนอยู่แล้ว ต่อมาจำเลยประกาศใช้ระเบียบใหม่ปรับปรุงอัตราเงินเดือนโดยแบ่งครึ่งของแต่ละลำดับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์เนื่องจากจำเลยสามารถพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน ให้โจทก์เพียงครึ่งขั้นในรอบปีได้ ซึ่งปกติโจทก์ควรจะได้รับการพิจารณาเลื่อน 1 ขั้นเป็นอย่างน้อย ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำบัญชีอัตราเงินเดือนที่ได้ประกาศใช้ใหม่มาใช้บังคับกับ โจทก์แล้ว จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนบัญชีอัตราเงินเดือนดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนของพนักงานของจำเลยกำหนดไว้ตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค. ๐๕๑๒/๒๘๑๓๔ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ตามบัญชีอัตราเงินเดือนดังกล่าว มิได้มีการกำหนดเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนครึ่งขั้นแต่อย่างใดต่อมาวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ จำเลยประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของพนักงานเพื่อกำหนดอัตราเงินเดือนของพนักงานมีทั้งหมด ๔๒ ลำดับ และปรับปรุงอัตราค่าจ้างเงินเดือนโดยแบ่งครึ่งของแต่ละลำดับโดยไม่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีหรือหารือกระทรวงการคลัง ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างอันไม่เป็นคุณแก่โจทก์ และจากระเบียบนี้ทำให้จำเลยสามารถพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนแก่โจทก์เพียงครึ่งขั้นในรอบปีได้ซึ่งโดยปกติแล้วในการพิจารณาเลื่อนขั้นในรอบปีแต่ละปีโจทก์ควรจะได้รับการพิจารณาเลื่อน ๑ ขั้นเป็นอย่างน้อย ขอให้เพิกถอนบัญชีกำหนดอัตราเงินเดือนตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒
จำเลยให้การว่า อัตราเงินเดือนตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑ที่โจทก์อ้างตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค.๐๒๕๑๒/๒๘๑๓๔ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๒๙ เป็นเพียงตารางแสดงการขยายอัตราเงินเดือนอีก ๒ ขั้นจำเลยไม่มีอำนาจกำหนดอัตราเงินเดือนได้เอง แต่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีต่อมาวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ จำเลยประกาศใช้ระเบียบฯ ว่าด้วยมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของพนักงาน (ฉบับที่ ๒) จำเลยได้นำบัญชีท้ายคำสั่งบริหารดังกล่าวผนวกไว้เป็นส่วนหนึ่งในระเบียบว่าด้วยมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของพนักงาน (ฉบับที่ ๒) คือ บัญชีอัตราเงินเดือนที่โจทก์ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนท้ายฟ้องบัญชีอัตราเงินเดือนที่โจทก์กล่าวอ้างจึงไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าบัญชีอัตราเงินเดือนตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒ ไม่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกำหนดว่า พิเคราะห์แล้ว ก่อนที่จะได้วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ สมควรจะได้วินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องสรุปความได้ว่าเดิมได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนของพนักงานจำเลย ซึ่งกำหนดตามหนังสือกระทรวงการคลัง ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๒๙ มิได้มีการกำหนดอัตราเงินเดือนครึ่งขั้น ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ จำเลยประกาศใช้ระเบียบสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยว่าด้วยมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของพนักงานโดยกำหนดอัตราเงินเดือนของพนักงานไว้ ๔๒ ลำดับจำเลยได้ปรับปรุงอัตราเงินเดือนโดยแบ่งครึ่งของแต่ละลำดับโดยมิได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีหรือหารือกระทรวงการคลังก่อน ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ และมาตรา ๒๐ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยจำเลยสามารถพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่โจทก์เพียงครึ่งขั้นในรอบปีได้ ซึ่งโดยปกติการพิจารณาเลื่อนขั้นควรได้รับการพิจารณาเลื่อน ๑ ขั้นเป็นอย่างน้อย จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำบัญชีอัตราเงินเดือนและค่าจ้างของพนักงานและลูกจ้างตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒ มาใช้บังคับกับโจทก์แล้วแต่อย่างใด ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นแต่เพียงคาดคะเนว่าจำเลยอาจจะเลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ครึ่งขั้นได้เท่านั้นเมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่า จำเลยได้นำบัญชีอัตราเงินเดือนและค่าจ้างของพนักงานและลูกจ้างตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒ มาใช้บังคับกับโจทก์แล้วดังนี้จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนบัญชีกำหนดอัตราเงินเดือนตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒ และปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น แม้จะมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลางก็ตาม แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงยกขึ้นวินิจฉัยได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของโจทก์อีกต่อไป
พิพากษายืน