คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5520/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัทจำเลย ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานโดยปล่อยให้บุคคลภายนอกเข้ามาภายในบริเวณโรงงานของจำเลย แม้จะเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นการที่โจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ โดย มิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ฝ่าฝืนข้อบังคับและระเบียบยอมให้บุคคลภายนอกเข้าในบริเวณโรงงานโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้มีอำนาจอนุญาต เป็นความผิดร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง แต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าว่า จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่นั้น เป็นกรณีที่จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ เมื่อโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยโดยให้บุคคลภายนอกเข้าในบริเวณโรงงานของจำเลย แม้จะเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นการที่โจทก์จงใจขัดคำสั่งของจำเลยผู้เป็นนายจ้างอันเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share