คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4544/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานยึดทรัพย์สินของจำเลยไว้เพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาเมื่อจำเลยค้างชำระค่าภาษีอากรอันเป็นภาษีอากรค้าง กรมสรรพากรจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลแรงงานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ซึ่งเป็นบทบัญญัติบังคับไว้โดยเฉพาะในชั้นบังคับคดี กรณีไม่อาจถือว่าเป็นคดีพิพาทอันเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติจักตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ที่จะต้องให้กรมสรรพากรไปดำเนินคดีที่ศาลภาษีอากรก่อน

ย่อยาว

มูลคดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ขอให้ศาลแรงงานกลางออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยบังคับคดีตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ ระหว่างประกาศขายทอดตลาดกรมสรรพากร ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าจำเลยเป็นหนี้ที่จะต้องชำระค่าภาษีอากร เงินเพิ่มและดอกเบี้ยปรับตามจำนวนในคำร้องให้แก่ผู้ร้อง จึงขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยเงินจากการขายทอดคลาดทรัพย์ดังกล่าว
จำเลยยื่นคำแถลงคัดค้านว่า จำเลยไม่เคยติดค้างค่าภาษีอากร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนีค่าภาษีอากรโดยชัดแจ้งตามมาตรา ๗ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงให้คู่กรณีไปว่ากล่าวกันให้เสร็จสิ้นที่ศาลภาษีอากรซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไปโดยให้งดการบังคับคดีไว้จนกว่าคดีที่ศาลภาษีอากรจะถึงที่สุด
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ผู้ร้องอุทธรณ์ว่าผู้ร้องขอเฉลี่ยทรัยพ์จากการขายทอดตลาดซึ่งเป็นเรื่องชั้นบังคับคดีและเป็นจำนวนหนี้ที่ผู้ร้องได้ประเมินตามประมวลรัษฎากรโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาจำเลยได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินของผู้ร้อง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๑, ๘๗ (๓) ประกอบกับมาตรา ๘๘ แห่งประมวลรัษฎากร จำเลยไม่อาจโต้แย้งจำนวนภาษีค้างได้อีกจึงมิใช่กรณีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิเรียกร้องของรัฐซึ่งจะต้องดำเนินการในศาลภาษีอากรตามคำสั่งของศาลแรงงานกลาง และจำเลยได้ร้องคัดค้านว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้ผู้ร้องตามที่ยื่นขอเฉลี่ยเพราะจำเลยได้จ่ายเงินค่าภาษีให้แก่ผู้ร้องครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว ซึ่งมีความหมายว่าจำเลยรับว่าจำเลยเป็นหนี้ภาษีตามคำร้องของผู้ร้อง แต่จำเลยอ้างข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ว่าได้ชำระครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิเรียกเก็บจากจำเลยเพิ่มได้อีก
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรมสรรพากรผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ โดยอ้างว่า จำเลยค้างชำระค่าภาษีอากรซึ่งถือได้ว่าเป็นภาษีอากรค้างตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๒ และในกรณีเช่นนี้โดยปกติอธิบดีกรมสรรพากรย่อมมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ทั่วราชอาณาจักรโดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่งและในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอมีอำนาจเช่นเดียวกับอธิบดีกรมสรรพากรในเขตท้องที่จังหวัดหรืออำเภอนั้น อำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นอำนาจที่อธิบดีกรมสรรพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอสามารถดำเนินการไปได้โดยไม่ต้องขออำนาจจากศาล กรณีตามคดีนี้ ศาลแรงงานกลางได้ยึดทรัพย์สินของจำเลยไว้เพื่อบังคับตามคำพิพากษาแล้วและกรมสรรพากรผู้ร้องอ้างว่าจำเลยค้างชำระค่าภาษีอากรอันเป็นอากรค้างกรมสรรพากรผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลแรงงานกลางซึ่งเป็นศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ ซึ่งเป็นบทบัญญัติบังคับไว้โดยเฉพาะในชั้นบังคับคดี กรณีไม่อาจถือได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา ๗ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ที่จะต้องให้กรมสรรพากรผู้ร้องไปดำเนินคดีที่ศาลภาษีอากรก่อนตามความเห็นของศาลแรงงานกลาง และชอบที่ศาลแรงงานกลางจัดต้องทำการไต่สวนคำร้องของกรมสรรพากรผู้ร้องต่อไป อุทธรณ์ของกรมสรรพากรผู้ร้องฟังขั้น
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางทำการไต่สวนคำร้องของกรมสรรพากรผู้ร้องและของจำเลยแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share