คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4265/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คลงวันที่ 5 เมษายน 2526 สั่งจ่ายเงินให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ เมื่อถึงกำหนดวันที่ระบุในเช็ค ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารสาขาของโจทก์นำเช็คพิพาทและบัญชี ของจำเลยมาตรวจดู ปรากฏว่าจำเลยมีเงินในบัญชีไม่พอจ่ายเช่นนี้ถือว่าธนาคารโจทก์ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คในวันที่ที่ลงในเช็ค แล้ว วันที่ที่ลงในเช็คจึงเป็นวันที่จำเลยกระทำผิดโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์และฟ้องจำเลยเมื่อเกิน 3 เดือนนับแต่นั้น คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ คนละ ๑ ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาท เอกสารหมาย จ.๓๐ ลงวันที่ล่วงหน้าคือวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๖ เป็นการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ ปัญหาที่จะวินิจฉัยมีว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า วันที่กำหนดใช้เงินตามเช็คคือวันที่ที่ลงในเช็ค พยานโจทก์คือนายสมชัย โภควนิช ผู้จัดการธนาคารสาขาของโจทก์เบิกความว่า จำเลยทั้งสองจะต้องนำเงินตามเช็คพิพาทมาเข้าบัญชีในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๖ ในวันดังกล่าว นายสมชัยนำเช็คพิพาทและบัญชีของจำเลยทั้งสองมาตรวจดูปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีเงินในบัญชีไม่พอจ่าย และนายสุรชัย ประวิทย์ธนา พนักงานของโจทก์เบิกความว่า กรณีเช่นนี้ถือว่าธนาคารโจทก์ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คในวันที่ที่ลงในเช็คพิพาท ดังนี้ จึงถือว่าวันกระทำผิดของจำเลยทั้งสอง คือวันที่ที่ลงในเช็คพิพาท และโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารตามเช็ครู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดตั้งแต่วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๖ แต่โจทก์มิได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยเพิ่งมาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ เป็นเวลาเกินสามเดือนและกรณีนี้เป็นความผิดอันยอมความกันได้ คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖
พิพากษายืน

Share