คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3679/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างแรงงานกำหนดว่ากรณีที่ลูกจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามสัญญา ลูกจ้างยินยอมให้ผู้ว่าจ้างริบเงินประกันได้ทันทีโดยให้คำมั่นว่าจะไม่เรียกร้องประการใดจากนายจ้าง จึงเป็นข้อสัญญาซึ่งกำหนดบังคับในลักษณะเป็นเบี้ยปรับอันมีจำนวนเท่ากับเงินประกันที่วางไว้ล่วงหน้าเป็นเงิน 2,100 บาทนั้น เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างภายในระยะเวลาทดลองงาน 180 วัน เพราะเหตุที่ทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับของโรงพยาบาลจำเลยเป็นการฝ่าฝืนสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยมีสิทธิริบเงินประกันในฐานะเป็นเบี้ยปรับได้ตามสัญญา แต่เบี้ยปรับเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายซึ่งหากสูงเกินกว่าที่เสียหายจริงศาลย่อมลดลงได้ ปรากฏว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับคิดเป็นเงิน 100 บาท ดังนั้นนายจ้างย่อมมีสิทธิริบเงินประกันไว้ได้เพียง 100 บาท ส่วนที่เกินต้องคืนให้ลูกจ้าง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานทำสวนที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท โจทก์ได้วางเงินค้ำประกันความเสียหายไว้กับจำเลยเป็นเงิน ๒,๑๐๐ บาท โดยจำเลยสัญญาว่าจะคืนให้เมื่อโจทก์ออกจากงาน ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่า โจทก์ขาดงานติดต่อกันเกินกว่า ๓ วันทำงาน โจทก์จึงขอเงินค้ำประกันคืน ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค้ำประกันจำนวน ๒,๑๐๐ บาท พร้อมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างโดยให้โจทก์ทดลองงานในตำแหน่งพนักงานทำสวน และโจทก์ได้วางเงินประกันความเสียหายไว้เป็นเงิน ๒,๑๐๐ บาท ต่อมาโจทก์ขาดงานละทิ้งหน้าที่ติดต่อกันเป็นเวลา ๔ วันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นความผิดตามข้อบังคับของจำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ การที่โจทก์กระทำผิดดังกล่าวเป็นการผิดสัญญาการจ้างงานซึ่งจำเลยมีสิทธิริบเงินประกันของโจทก์ นอกจากนี้การที่โจทก์หยุดงานทำให้ต้นไม้ของจำเลยซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์กับพวกเหี่ยวเฉาจำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาให้คงสภาพเดิมเป็นเงิน ๒,๕๐๐ บาท ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลย ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๒,๕๐๐ บาทแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งด้วยวาจาว่า โจทก์กับนายธรรมนูญ ชินพงศ์ ลูกจ้างของจำเลยอีกคนหนึ่ง ร่วมกันเป็นผู้ดูแลรักษาสวนของจำเลย โจทก์มีหน้าที่รดน้ำต้นไม้และกระถางต้นไม้ซึ่งอยู่ตั้งแต่ชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๙ นอกจากนั้นเป็นหน้าที่ของนายธรรมนูญ แต่ถ้าคนหนึ่งคนใดไม่อยู่หรือขาดงานอีกคนหนึ่งก็จะช่วยทำแทน จำเลยจึงไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินประกันจำนวน ๒,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์และจำเลยนอกนั้นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อเดียวว่าจำเลยมีสิทธิริบเงินประกันของโจทก์ในฐานะที่เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามสัญญาการจ้างงานข้อ ๑๑. มีข้อความดังนี้ ‘ข้อ ๑๑. ผู้ว่าจ้างตกลงกับลูกจ้างว่าจะคืนเงินประกันความเสียหายให้กับลูกจ้าง ดังนี้
๑๑.๑ เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างภายในระยะเวลาทดลองงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันโดยมิได้กระทำความผิดตามระเบียบของทางโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท
๑๑.๒ เมื่อลูกจ้างได้ปฏิบัติงานให้กับผู้ว่าจ้างครบตามสัญญาการจ้างงานนับแต่วันที่ลูกจ้างได้เข้าทำงานตามสัญญานี้
๑๑.๓ ภายในเงื่อนไขของข้อ ๑๑.๑ และ ๑๑.๒ ลูกจ้างต้องไม่ทำให้ทรัพย์สินของผู้ว่าจ้างเสียหายไม่ว่ากรณีใด ๆ ในระหว่างการจ้างงาน
หากมีความเสียหายเกิดขึ้นอันอยู่ในความรับผิดชอบตามหน้าที่ของลูกจ้างไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่เจตนา ประมาทเลินเล่อลูกจ้างยินยอมให้ผู้ว่าจ้างหักค่าเสียหายออกจากเงินประกันได้ทันทีโดยปราศจากข้อโต้แย้ง
ลูกจ้างที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อ ๑๑ นี้ลูกจ้างยินยอมให้ผู้ว่าจ้างริบเงินประกันตามข้อ ๒ ได้ทันที โดยลูกจ้างให้คำมั่นว่าจะไม่เรียกร้องประการใด ๆ ทั้งสิ้น’ ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวได้กำหนดกรณีที่ลูกจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามสัญญา ลูกจ้างยินยอมให้ผู้ว่าจ้างริบเงินประกันได้ทันทีโดยให้คำมั่นว่าจะไม่เรียกร้องประการใดจากนายจ้าง จึงเป็นข้อสัญญาซึ่งกำหนดบังคับในลักษณะเป็นเบี้ยปรับอันมีจำนวนเท่ากับเงินประกันที่วางไว้ล่วงหน้าเป็นเงิน ๒,๑๐๐ บาทนั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างภายในระยะเวลาทดลองงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันเพราะเหตุที่ทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับของโรงพยาบาลจำเลย การกระทำผิดของโจทก์จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนสัญญาจ้างงานข้อ ๑๑ (๑) จำเลยมีสิทธิริบเงินประกันในฐานะที่เป็นเบี้ยปรับได้ตามสัญญาข้อ ๑๑ วรรคสาม ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าสัญญาการจ้างงานเอกสารหมาย ล.๓ มิได้กำหนดเรื่องเบี้ยปรับ จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินประกันในฐานะที่เป็นเบี้ยปรับนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น แต่เบี้ยปรับเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายซึ่งหากสูงเกินกว่าที่เสียหายจริงศาลย่อมลดลงได้ ปรากฏว่า ศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่า ความเสียหายที่จำเลยได้รับคิดเป็นเงิน ๑๐๐ บาท ดังนั้น จำเลยย่อมมีสิทธิริบเงินประกันไว้ได้เพียง ๑๐๐ บาท ส่วนที่เกินต้องคืนให้โจทก์ไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้คืนเงินประกัน ๒,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
พิพากษายืน.

Share