แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ก็ตาม แต่ฎีกาของโจทก์ที่ว่าศาลอุทธรณ์นับอายุของผู้เสียหายคลาดเคลื่อน เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวน ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณานั้น เป็นข้อกฎหมายจึงไม่ต้องห้ามฎีกา
การข่มขืนกระทำชำเราผู้สืบสันดานอันจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 นั้น หมายถึงการกระทำแก่ผู้สืบสันดานในทางสืบสายโลหิตโดยแท้จริง เพราะบทกฎหมายมาตรานี้ไม่ได้มุ่งลงโทษหนักขึ้นเฉพาะการกระทำแก่บุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น จึงใช้คำว่า ‘กระทำแก่ผู้สืบสันดาน’ ดังนั้น การที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้สืบสายโลหิตโดยตรงลงมา แม้ผู้นั้นจะมิใช่เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำต่อผู้สืบสันดานตามความหมายของ มาตรา 285 นี้แล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงจันทิมาซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของจำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖, ๒๗๗, ๒๘๕ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๓ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๐
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงจันทิมาผู้เสียหายจริงตามฟ้อง แต่เด็กหญิงจันทิมาไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยจึงลงโทษตามมาตรา ๒๘๕ ไม่ได้ และขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอายุเกิน ๑๓ ปีแล้วจึงนำบทบัญญัติมาตรา ๒๗๗ มาลงโทษไม่ได้ พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ ลงโทษจำคุกจำเลย ๔ ปี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาประการแรกว่าข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้เสียหายเกิดวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๑๔ เมื่อนับถึงวันเกิดเหตุคือก่อนวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๒๗ ผู้เสียหายจึงมีอายุยังไม่เกิน ๑๓ปี ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้เสียหายมีอายุกว่า ๑๓ ปี จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนโดยนับอายุของผู้เสียหายคลาดเคลื่อนนั้น ข้อนี้เห็นว่า แม้ฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗จะต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๒๐ เพราะศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องในความผิดตามกฎหมายมาตราดังกล่าวก็ตาม แต่ฎีกาของโจทก์ที่ว่าศาลอุทธรณ์นับอายุของผู้เสียหายคลาดเคลื่อนเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวน จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณานั้น เป็นข้อกฎหมาย ไม่ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว และศาลฎีกาเห็นว่าในปัญหานี้ข้อเท็จจริงคงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่าผู้เสียหายเกิดเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๑๔ เมื่อนับถึงวันกระทำความผิดก่อนวันที่๑๓ เมษายน ๒๕๒๗ ผู้เสียหายจึงอายุยังไม่เกิน ๑๓ ปี ดังนั้น จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคแรก
โจทก์ฎีกาประการต่อมาว่า การที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายถือว่าเป็นการกระทำแก่ผู้สืบสันดาน อันจะทำให้จำเลยต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๕ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่าผู้เสียหายเป็นบุตรของจำเลยซึ่งเกิดแต่นางมาลินนาจำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากับนางมาลินนาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน ๔ คน เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๕ มุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดให้หนักขึ้น เพราะเหตุที่ได้กระทำแก่ผู้สืบสายโลหิตของตนลงมา ดังนั้นกฎหมายจึงใช้คำว่า’กระทำแก่ผู้สืบสันดาน’ ซึ่งแสดงว่าบทกฎหมายมาตรานี้ไม่ได้มุ่งลงโทษหนักขึ้นเฉพาะการกระทำแก่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่หมายถึงการกระทำแก่ผู้สืบสันดานในทางสืบสายโลหิตโดยแท้จริง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดานเป็นความสัมพันธ์ทางสายโลหิต จึงต้องถือตามความเป็นจริง กรณีนี้มิใช่มุ่งหมายถึงความสัมพันธ์ในทางครอบครัวตามหลักกฎหมายแพ่ง หาชอบที่จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ในการตีความคำว่าผู้สืบสันดานในทางอาญาไม่ การที่จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้สืบสายโลหิตโดยตรงลงมา แม้ผู้เสียหายจะมิใช่เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำต่อผู้สืบสันดานตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๕ แล้วจำเลยจะต้องได้รับโทษหนักขึ้นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๘๕ ให้ลงโทษจำคุก ๑๒ ปี.