คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2898/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาว่าข้อนำสืบของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชักชวนผู้เสียหายหรือโฆษณาต่อประชาชนให้ไปทำงานในประเทศตะวันออกกลาง และไม่นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ไม่ตั้งใจส่งผู้เสียหายไปทำงานยังต่างประเทศเพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฉ้อโกงมาแต่ต้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดทางอาญาแต่เป็นความรับผิดทางแพ่ง เป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
แม้ว่าวันเกิดเหตุของคดีความผิดฐานฉ้อโกงในคดีนี้จะคาบเกี่ยวกันกับคดีแรก แต่ผู้เสียหายเป็นคนละชุดกัน ถูกหลอกลวงต่างวันหรือต่างเวลากัน เงินที่ถูกหลอกลวงก็เป็นคนละจำนวนกัน จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ซ้ำซ้อนกับคดีแรก
ปัญหาที่ว่ามีการกระทำผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตหลายกรรมหรือไม่ต้องพิจารณาว่าการจัดหางานนั้นได้กระทำต่อเนื่องเป็นคราวเดียวกันหรือไม่ มิใช่พิจารณาว่าเป็นการจัดหางานให้แต่ละคนหรือแต่ละช่วงเวลาตามแต่จะกำหนดเป็นสำคัญ เมื่อได้ความว่าจำเลยทั้งสามได้ออกอุบายตั้งสำนักงานจัดหางานให้แก่ประชาชนทั่วไป ทั้งการกระทำผิดในคดีนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาคาบเกี่ยวต่อเนื่องกับคดีแรกโดยไม่ปรากฏว่ามีการหยุดดำเนินกิจการในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมีเจตนาดำเนินการในการจัดหางานคราวเดียวกันการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ทั้งสองคดีในความผิดฐานนี้จึงเป็นกรรมเดียวกัน ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานจัดหางาน ฯ จึงซ้อนกับคดีแรก ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
ฎีกาที่ว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนนั้นเป็นฎีกาปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้มิได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัย
เมื่อฟ้องโจทก์บางฐานความผิดเป็นฟ้องซ้อน ถือได้ว่าเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาให้มิต้องรับโทษในฐานความผิดที่เป็นฟ้องซ้อนด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๓, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.๒๕๑๑ มาตรา ๗, ๒๗ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ หลบหนีศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว ต่อมาจับจำเลยที่ ๑ ได้ จึงยกคดีขึ้นพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๑๑ มาตรา ๗ จำคุก ๑ เดือน และมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๓ ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๔๓ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๕ ปี
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ จัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและได้กระทำโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงประชาชน ว่าจะส่งผู้สมัครไปทำงานในประเทศตะวันออกกลางทำให้จำเลยที่ ๑ ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่าข้อนำสืบของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ชักชวนผู้เสียหายหรือโฆษณาต่อประชาชนให้ไปทำงานในประเทศตะวันออกกลาง และไม่ได้นำสืบให้ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ตั้งใจส่งผู้เสียหายไปทำงานยังต่างประเทศ เพื่อแสดงว่าจำเลยที่ ๑ มีเจตนาฉ้อโกงมาแต่ต้น การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงไม่เป็นความผิดอาญาแต่เป็นความรับผิดทางแพ่ง และจำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับทรัพย์สินจากผู้เสียหายหรือบุคคลภายนอก ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง นั้น เห็นว่าข้ออ้างของจำเลยที่ ๑ ล้วนเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาดังกล่าวข้างต้น เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดแต่ละกระทงไม่เกิน ๕ ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่าฟ้องโจทก์คดีนี้ซ้ำซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๕๔๐๓/๒๕๒๖ ของศาลชั้นต้น นั้น เห็นว่าสำหรับความผิดฐานฉ้อโกงนั้นแม้ว่าวันเวลาเกิดเหตุของคดีทั้งสองสำนวนจะคาบเกี่ยวกัน แต่ผู้เสียหายในคดีทั้งสองสำนวนก็เป็นคนละชุดกัน เงินที่ถูกหลอกลวงก็เป็นคนละจำนวนกัน ทั้งผู้เสียหายทั้งสองสำนวนถูกหลอกลวงต่างวันหรือต่างเวลากันจึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ มิใช่เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกัน ฟ้องโจทก์ในฐานความผิดฉ้อโกงคดีนี้จึงไม่ซ้ำซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๕๔๐๓/๒๕๒๖ ของศาลชั้นต้น
ส่วนความผิดฐานจัดหางานโดยเรียกและรับค่าบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนนั้น ตามความในมาตรา ๑๙ ของ พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุคดีนี้นั้น เป็นที่เห็นได้ว่าเมื่อได้รับอนุญาตให้จัดหางานแล้วก็สามารถดำเนินการในการจัดหางานได้ตามเวลาที่กำหนด มิใช่ว่าเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจะจัดหางานได้เพียงครั้งหนึ่งคราวเดียว ปัญหาที่ว่าจะมีการกระทำฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตหลายกรรมต่างกันหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าการจัดหางานนั้นได้กระทำต่อเนื่องเป็นคราวเดียวกันหรือไม่ มิใช่พิจารณาว่าเป็นการจัดหางานให้แต่ละคนหรือแต่ละช่วงระยะเวลาตามแต่จะกำหนดเป็นสำคัญ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๕๔๐๓/๒๕๒๖ ของศาลชั้นต้นได้ความว่าจำเลยทั้งสามได้ออกอุบายตั้งสำนักงานในชื่อของจำเลยที่ ๓ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดดำเนินการจัดหางานให้แก่ประชาชนทั่วไปที่ประสงค์จะไปทำงานในประเทศตะวันออกกลาง ทั้งการกระทำผิดนี้คาบเกี่ยวต่อเนื่องกันทั้งสองคดีโดยไม่ปรากฏว่ามีการหยุดดำเนินกิจการในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ ๑ กับพวกมีเจตนาจะดำเนินการในการจัดหางานคราวเดียวกัน การกระทำผิดของจำเลยที่ ๑ ทั้งสองคดีในความผิดฐานนี้จึงเป็นความผิดกรรมเดียว ฟ้องโจทก์ในฐานความผิดจัดหางานโดยเรียกและรับค่าบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนคดีนี้จึงซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๕๔๐๓/๒๕๒๖ ของศาลชั้นต้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้มิได้ว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรค ๒ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และโดยที่ข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนว่าต่อมาจำเลยที่ ๒ ถูกจับกุมตัวได้ ศาลชั้นต้นได้ยกคดีขึ้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๓, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๑๑ มาตรา ๗, ๒๗ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ ข้อ ๒ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด เมื่อคดีฟังได้ว่าฟ้องโจทก์ฐานความผิดจัดหางานโดยเรียกและรับค่าบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตคดีนี้ซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๕๔๐๓/๒๕๒๖ ของศาลชั้นต้น ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายแล้ว จึงถือว่าเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องถูกรับโทษในฐานความผิดดังกล่าวดุจจำเลยที่ ๑ ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดต่อพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน สำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒และที่ ๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share