แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีที่ผู้ประกอบการค้านำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรประมวลรัษฎากร มาตรา 78 เอกาทศ และมาตรา 78 ทวาทศ ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้กรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีการค้าเพื่อกรมสรรพากรได้ ผลจึงเท่ากับว่าในกรณีที่ผู้ประกอบการค้านำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น กรมศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามกฎหมาย ซึ่งย่อมจะต้องรวมตลอดถึงการฟ้องร้องด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดเก็บอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร รวมทั้งภาษีการค้าภาษีบำรุงเทศบาล ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง จำเลยสั่งและนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร โดยแสดงราคาสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริง จำเลยจึงต้องชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มอีก และจำเลยต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละหนึ่งต่อเดือน จึงขอให้พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑๗,๘๕๔ บาท ๘๐ สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑๗,๘๕๔ บาท ๘๐ สตางค์ ยกคำขออื่น
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ฟ้องโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยชำระภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลพร้อมเงินเพิ่มให้ยก กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในจำนวนเงินภาษีอากรและเงินเพิ่มที่จำเลยจะต้องรับผิด นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กล่าวโดยทั่วไปการจัดเก็บภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลนั้น อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร ตามประมวลรัษฎากรแต่ในกรณีที่ผู้ประกอบการค้านำสินค้าเข้าในราชอาณาจักรนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๘ เอกาทศ และมาตรา ๗๘ ทวาทศ ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้กรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีการค้าเพื่อกรมสรรพากรได้ ผลจึงเท่ากับว่าในกรณีที่ผู้ประกอบการค้านำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น กรมศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามกฎหมาย ซึ่งย่อมจะต้องรวมตลอดถึงการฟ้องร้องด้วยนั่นเอง กรมศุลกากรมิใช่มีฐานะเป็นเพียงตัวแทนผู้รับมอบอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในลักษณะตัวแทนดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
อย่างไรก็ดี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลรัษฎากรได้บัญญัติทางแก้ในกรณีที่ผู้ประกอบการค้าผิดนัดไม่ชำระหนี้ไว้โดยเฉพาะแล้วตาม มาตรา ๘๙ ทวิ โดยกำหนดให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๑ ต่อเดือนหรือเศษของเดือน แต่มิให้เกินจำนวนภาษีที่จะต้องชำระ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ อีก ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถึงแม้จำเลยจะไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.