คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2391/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะคุ้มครองป้องกันมิให้นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โดยถ้าปรากฏต่อศาลแรงงานว่าการเลิกจ้างลูกจ้างรายใดไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานมีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่เคยได้รับในขณะที่ถูกเลิกจ้างแต่ ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ศาลแรงงานก็มีอำนาจกำหนดให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้างแทน การรับกลับเข้าทำงานและตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ หรือขั้นตอนในการที่ลูกจ้างจะฟ้องเรียกค่าเสียหายไว้ การที่ศาลสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปเป็นอำนาจของศาลแรงงานที่จะวินิจฉัยสั่งตามบทบัญญัติดังกล่าวในเมื่อปรากฏว่าลูกจ้างอาจทำงานร่วมกับนายจ้างต่อไปได้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ขอให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปด้วยนั้น หาใช่เป็นเหตุที่จะแสดงว่าโจทก์พอใจในการที่ถูกเลิกจ้างแล้วและจะถือว่าเป็นกรณีที่ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหาได้ไม่ การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่ต้องพิจารณาถึงเหตุเลิกจ้างว่ามีเหตุอันสมควรเพียงพอหรือไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ทำหน้าที่เลขานุการ จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่า โจทก์เป็นผู้ทำให้เอกสารรายงานแสดงข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าสินเชื่อรั่วไหลออกไปสู่บุคคลภายนอกด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ผู้เป็นนายจ้างเสียหายอย่างร้ายแรง เอกสารนั้นหาใช่เอกสารสำคัญเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ต้องได้รับความเสียหายไม่ จำเลยที่ ๑ เจตนากลั่นแกล้งเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ ได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมทั้ง ๆ ที่โจทก์ยังประสงค์จะทำงานกับโจทก์ต่อไปอีกขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ กับให้จำเลยเพิกถอนมติให้เลิกจ้างโจทก์ปรากฏตามรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ ๑๗/๒๕๒๙ และยกเลิกคำสั่งให้เลิกจ้างโจทก์เสีย โดยออกประกาศเป็นหนังสือเวียนให้พนักงานทั้งหมดของจำเลยที่ ๑ ทราบ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้วเพราะโจทก์เป็นผู้ทำให้เอกสารสำคัญไปสู่บุคคลภายนอก
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สำหรับเหตุคดีนี้แม้จะฟังได้ว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ศาลก็สั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานไม่ได้เพราะเกินคำขอ จึงไม่มีปัญหาให้ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยจะทำงานร่วมกันต่อไปได้หรือไม่ เมื่อไม่มีปัญหาดังกล่าวจึงไม่มีอะไรเป็นสิ่งกำหนดค่าเสียหายที่จะให้จำเลยชดใช้แทนได้ เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ การที่โจทก์ไม่ขอให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานต่อไปแสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลย เท่ากับพอใจในการที่ถูกเลิกจ้างแล้ว จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นกฎหมายวิธีบัญญัติ ไม่ใช่กฎหมายสารบัญญัติที่กำหนดสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลในทางแพ่ง มาตรา ๔๙ ให้อำนาจแก่ศาลที่กำลังพิจารณาคดีเลิกจ้างอยู่ หากปรากฏว่าการเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรม แม้จะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้างได้โดยที่ลูกจ้างไม่ต้องขอมาในคำฟ้อง การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า คำขอท้ายฟ้องข้ามขั้นตอนเพราะไม่ได้ขอกลับเข้าทำงานเสียก่อนนั้น จึงไม่ถูกต้องเพราะว่า แม้แต่โจทก์ไม่มีคำขอศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้โดยชอบ จึงมิใช่กรณีเกินคำขอและข้อสรุปของศาลแรงงานกลางที่ว่าโจทก์ไม่ขอให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานต่อไปแสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลย เท่ากับโจทก์พอใจในการที่ถูกเลิกจ้างแล้วไม่ถูกต้อง เพราะหากเป็นจริงตามข้อสรุป โจทก์ก็ไม่จำเป็นต้องนำคดีมาฟ้องทั้งคำฟ้องของโจทก์ก็ได้บรรยายไว้ตอนหนึ่งว่า ‘การเลิกจ้างจึงไม่เป็นธรรมทั้ง ๆ ที่โจทก์ยังประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ ๑ ต่อไปอีก’และโจทก์ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ บัญญัติว่า ‘การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างถ้าศาลแรงงานเห็นว่า การเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน โดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง และระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา’ อันเป็นบทบัญญัติในส่วนที่ ๒ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีแรงงานในศาลแรงงาน แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยกำหนดให้ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะคุ้มครองป้องกันมิให้นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ถ้าปรากฏต่อศาลแรงงานว่าการเลิกจ้างลูกจ้างรายใดไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานมีอำนาจตามบทบัญญัติมาตรานี้สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่เคยได้รับในขณะที่ถูกเลิกจ้าง แม้ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ศาลแรงงานก็มีอำนาจกำหนดให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้างแทนการรับกลับเข้าทำงานและตามบทบัญญัติดังกล่าวหาได้กำหนดหลักเกณฑ์ หรือขั้นตอนในการที่โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ การที่ศาลสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปนั้นเป็นอำนาจของศาลแรงงานที่จะวินิจฉัยสั่งตามบทบัญญัติดังกล่าวในเมื่อปรากฏว่าลูกจ้างอาจทำงานร่วมกับนายจ้างต่อไปได้ หาใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่ อีกทั้งการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเพียงอย่างเดียวโดยไม่ขอให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปด้วยนั้นก็หาใช่เป็นเหตุที่จะแสดงว่าโจทก์พอใจในการที่ถูกเลิกจ้างแล้วและจะถือว่าเป็นกรณีที่ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ดังคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางหาได้ไม่ เพราะการเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่นั้นย่อมต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุอันสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๓๘/๒๕๒๔ ระหว่างนายสมหมาย สาตรปรุง โจทก์บริษัทการบินไทย จำกัด จำเลย ที่ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา จึงสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาในประเด็นแห่งคดีตามที่ได้กำหนดไว้แล้วต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

Share