คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2174-2175/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมว่าสามารถช่วยเหลือโจทก์ร่วมให้เข้าทำงานเป็นพนักงานของการรถไฟ ฯ ได้โดยไม่ต้องสอบและเรียกเงินจากโจทก์ร่วมอ้างว่าจะนำไปเป็นค่าติดต่อกับผู้ใหญ่และเป็นค่าใช้จ่าย ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมให้เงินไปเพื่อให้จำเลยนำไปให้เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการใด ๆ อันมิชอบด้วยหน้าที่ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้ให้กระทำผิดกฎหมาย โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย
ความผิดฐานฉ้อโกง ศาลชั้นต้นยกฟ้องปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ และเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาว่าเป็นการจำเป็นหรือไม่ที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่จำเป็นและสมควรวินิจฉัยเสียเองก็ย่อมกระทำได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๖ เวลากลางวันถึงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๖ เวลากลางวันจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันหลอกลวงนางสาวศศิธร บุญสุข ผู้เสียหาย (โจทก์ร่วม) ว่าจำเลยกับพวกสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายให้เข้าทำงานเป็นพนักงานของการรถไฟ ฯ ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินได้โดยไม่ต้องสอบเข้า เพราะพวกของจำเลยมีสามีเป็นนายสถานีรถไฟหัวลำโพง สามีของพวกจำเลยจะเป็นผู้ดำเนินการให้ผู้เสียหายเข้าทำงานได้ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงจ่ายเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยกับพวกไป ความจริงจำเลยกับพวกไม่มีเจตนาจะดำเนินการให้ผู้เสียหายเข้าทำงานการรถไฟ ฯ ก็มิได้เปิดรับสมัครพนักงานเจ้าหน้าที่การเงินในระหว่างเกิดเหตุ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๘๓ และคืนเงินแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ลงโทษจำคุกคนละ ๖ เดือนและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างฎีกา โจทก์ร่วมขอถอนคำร้องทุกข์เฉพาะจำเลยที่ ๒ ศาลฎีกาเห็นว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒) ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒
ศาลฎีกาวินิจฉัยคดีสำหรับจำเลยที่ ๑ ว่า ปัญหาว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยรับเงินจากโจทก์ร่วมโดยบอกว่าจะนำไปเป็นค่าติดต่อกับผู้ใหญ่ให้เข้าทำงานและเป็นค่าใช้จ่ายข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมให้เงินไปเพื่อให้จำเลยนำไปให้เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการใด ๆ อันมิชอบด้วยหน้าที่ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมได้ร่วมกับจำเลยนำสินบนไปให้แก่เจ้าพนักงานอันเป็นการใช้ให้กระทำผิดกฎหมาย โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย มีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลย
ส่วนที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจยกปัญหาข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัย เพราะคดีนี้ศาลแขวงนครสวรรค์พิพากษายกฟ้อง การอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องมีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๒๒ ทวิ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย จึงไม่ต้องดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว และเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาว่า เป็นการจำเป็นหรือไม่ที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่จำเป็นและสมควรวินิจฉัยเสียเองก็ย่อมกระทำได้โดยชอบ
พิพากษายืน

Share