คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1446/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อกรมสรรพากรจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ไม่แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ จะถือว่าจำเลยที่ 1 ได้อนุญาตให้โจทก์ขยายเวลาตามคำร้องของโจทก์โดยปริยายไม่ได้ เพราะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 3 อัฏฐ มิได้บัญญัติบังคับให้ต้องแจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องทราบ เหมือนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 (ข)
การที่โจทก์ไม่สามารถยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 1 อนุญาตให้ขยายเวลาโดยอ้างว่าผู้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์ไม่ยอมรับรองบัญชีงบดุลซึ่งจะต้องยื่นพร้อมแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี เนื่องจากสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีอยู่ที่จำเลยที่ 1 ผู้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์ไม่สามารถตรวจสอบได้นั้น ไม่ใช่เป็นเหตุสุดวิสัยและไม่ใช่ความบกพร่องของพนักงานของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด เพราะผู้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์สามารถจะไปขออนุญาตตรวจสอบหรือขอถ่ายบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี ณ ที่ทำการของจำเลยที่ 1 ได้
เมื่อโจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 1 ขยายให้ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1จึงมีอำนาจทำการประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71 (1) ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ ๕ ของรายรับ ก่อนหักรายจ่ายเป็นเงิน ๔๓๔,๕๐๐ บาท โดยแจ้งว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๒๑ โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ โจทก์เห็นว่าการประเมินของจำเลยที่ ๑ ไม่ชอบ จึงอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก ์โจทก์เห็นว่าไม่ชอบด้วยเหตุผลเพราะจำเลยที่ ๑ มีหมายเรียกให้โจทก์นำบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีทั้งหมดตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ ถึงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๑ ไปให้จำเลยที่ ๑ ตรวจสอบโจทก์ปฏิบัติตามหมายเรียกจึงไม่อาจยื่นแบบแสดงรายการพร้อมงบดุลบัญชีกำไรขาดทุนเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๒ อันเป็นวันครบกำหนดตามกฎหมายได้จึงขอขยายเวลายื่นแบบจำเลยที่ ๑ อนุญาตให้ขยายเวลาออกไป ๑๕๐ วันโดยให้โจทก์ไปคัดลอกรายการบัญชีเพื่อทำบัญชีกำไรขาดทุนและงบดุลโจทก์ปฏิบัติตามแล้วแต่ผู้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์ไม่อาจรับรองงบดุลบัญชีกำไรขาดทุนได้เพราะบัญชีพร้อมเอกสารที่จะตรวจสอบอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๑ ก่อนครบกำหนดเวลาที่จำเลยที่ ๑อนุญาตโจทก์จึงยื่นคำร้องขอขยายเวลาอีกครั้งจนบัดนี้ก็ไม่ได้รับหนังสือตอบจากจำเลย โจทก์ไม่อาจยื่นแบบแสดงรายการเพราะความผิดพลาดบกพร่องของจำเลยที่ ๑ เองและเป็นเหตุสุดวิสัยจำเลยที่ ๑ จึงไม่มีอำนาจประเมินให้โจทก์เสียภาษีตามมาตรา ๗๑ (๑) ได้ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่าจำเลยไม่อาจคืนสมุดบัญชีและเอกสารประกอบให้โจทก์ได้เพราะจำเป็นต้องยึดไว้เพื่อตรวจสอบแต่จำเลยที่ ๑ก็ได้อนุญาตขยายเวลาให้โจทก์ออกไป ๑๕๐ วันหากโจทก์ประสงค์จะให้ผู้ตรวจสอบบัญชีรับรองงบดุลบัญชีกำไรขาดทุนก็สามารถที่จะให้ผู้ตรวจสอบบัญชีไปตรวจสอบหลักฐานยังที่ทำการของจำเลยที่ ๑ ได้การที่โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยแต่เป็นการจงใจหรือเจตนา เจ้าพนักงานจึงมีอำนาจประเมินตามมาตรา ๗๑ (๑) ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้และคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าแม้บัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๒๑ จะอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๑ ก็ตามแต่จำเลยที่ ๑ ได้อนุญาตให้โจทก์ขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไปอีก ๑๕๐ วันแล้วนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเรื่องขอขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากจำเลยที่ ๑ และยังอนุญาตให้โจทก์ไปคัดลอกรายการในบัญชีที่ที่ทำการของจำเลยที่ ๑ มาได้เพื่อทำบัญชีงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนซึ่งจะต้องยื่นพร้อมกับแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อจำเลยที่ ๑ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๖๙ แต่โจทก์ก็มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อจำเลยที่ ๑ ภายในกำหนดตามที่จำเลยที่ ๑ อนุญาตให้ขยายเวลาไว้ต่อมาวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๒๓โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาต่อจำเลยที่ ๑ อีกครั้งหนึ่งโดยอ้างว่าผู้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์ไม่ยอมรับรองงบดุลให้เพราะสมุดบัญชีและเอกสารประกอบอยู่ที่จำเลยที่ ๑ ผู้ตรวจสอบบัญชีไม่สามารถตรวจสอบรับรองได้ตามเอกสารหมาย จ.๒ จำเลยที่ ๑ ไม่อนุญาตขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้โจทก์แต่มิได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบ การที่จำเลยที่ ๑ ไม่แจ้งคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องขอขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครั้งที่สองให้โจทก์ทราบเช่นนี้จะถือว่าจำเลยที่ ๑ ได้อนุญาตให้โจทก์ขยายเวลาตามคำร้องของโจทก์โดยปริยายหาได้ไม่เพราะตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๓ อัฏฐมิได้บัญญัติบังคับให้ต้องแจ้งคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ให้ผู้ร้องขอขยายเวลาทราบเหมือนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๕ (ข) ส่วนในกรณีที่โจทก์ไม่สามารถยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในกำหนดที่จำเลยที่ ๑ อนุญาตให้ขยายเวลาโดยอ้างว่าผู้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์ไม่ยอมรับรองบัญชีงบดุลซึ่งจะต้องยื่นพร้อมแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเนื่องจากสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีอยู่ที่จำเลยที่ ๑ ผู้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์ไม่สามารถตรวจสอบได้เป็นเหตุสุดวิสัยและเป็นความบกพร่องของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๑ นั้นเห็นว่าผู้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์สามารถที่จะไปขออนุญาตตรวจสอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีณที่ทำการของจำเลยที่ ๑ ได้หรือให้คนของโจทก์ไปขอถ่ายเอกสารบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีโดยให้เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๑ รับรองสำเนาถูกต้องให้แล้วนำมาตรวจสอบกับบัญชีงบดุลเพื่อรับรองบัญชีงบดุลนั้นก็ย่อมกระทำได้ทั้งโจทก์มิได้นำสืบแสดงให้ศาลเห็นว่าโจทก์หรือผู้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์ได้ไปขออนุญาตต่อจำเลยที่ ๑ เพื่อขอตรวจสอบบัญชีแล้วแต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมให้ตรวจสอบบัญชีและเอกสารของโจทก์ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นการแสดงว่าผู้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์ไม่สามารถตรวจสอบบัญชีได้อย่างแน่แท้พฤติการณ์ที่โจทก์อ้างมาดังกล่าวจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยและไม่ใช่ความบกพร่องของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๑ แต่อย่างใดเป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่หาทางจัดการแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าวแต่อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีเจตนาหรือจงใจหลีกเลี่ยงไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโจทก์ก็น่าจะยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมกับบัญชีงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนที่ผู้ตรวจสอบบัญชีไม่ยอมรับรองโดยบันทึกเหตุขัดข้องไว้ภายในกำหนดเวลาที่จำเลยที่ ๑ ขยายให้แต่โจทก์หาได้ปฏิบัติดังกล่าวไม่ในเมื่อโจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในกำหนดเวลาที่จำเลยที่ ๑ ขยายให้เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ ๑ จึงมีอำนาจทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา ๗๑ (๑)การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share