แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่างขับรถยนต์เฉี่ยวชนกันโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลอนุญาตไปแล้ว ส่วนคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้างร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ เพราะจำเลยที่ 2 มีความประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยที่ 1 ดังนี้ การที่โจทก์ได้รับค่าเสียหายจากนายจ้างของจำเลยที่ 2 ไปแล้วก็เป็นเรื่องค่าเสียหายเฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ หาได้ครอบคลุมไปถึงจำนวนค่าเสียหายในส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยไม่ โจทก์ยังคงมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 ที่ 3 ได้
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องมีใจความว่า เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๑ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างและกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๓ ได้ขับขี่รถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ๑ จ.-๗๕๓๘ หมายเลขข้างรถ ๙๙-๘๕๘ ซึ่งจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองด้วยความเร็วสูงไปตามถนนสายที่ ๑ มุ่งหน้าไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อถึงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ ๕๔๒-๕๔๓ ซึ่งอยู่ในเขตตำบลสมปราบอำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง บริเวณนั้นเป็นทางโค้ง จำเลยที่ ๑ ได้ขับรถแซงรถยนต์คันอื่นที่แล่นอยู่ข้างหน้า โดยความประมาทปราศจากความระมัดระวังจึงเฉี่ยวชนเข้ากับใบมีดของรถแทรกเตอร์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่บรรทุกอยู่บนรถลากจูง ซึ่งมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ขับขี่แล่นสวนทางมาจากจังหวัดลำปางมุ่งหน้าไปจังหวัดตาก ใบมีดดังกล่าวยื่นล้ำตัวรถลากจูงออกมาทางด้านข้างทั้งสองด้านยาวประมาณข้างละ ๑ ศอก เป็นเหตุให้ผู้โดยสารซึ่งโดยสารมาในรถถึงแก่ความตายหลายคน ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ รวมเป็นเงิน๑๑๕,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๔ ที่ ๕ เป็นเงิน ๑๕๕,๐๐๐ บาท และโจทก์ที่ ๖ ที่ ๗ เป็นเงิน ๒๒๗,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินแต่ละสำนวนนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ก่อนที่จำเลยทั้งสามสำนวนจะยื่นคำให้การ โจทก์ทั้งสามสำนวนขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๒ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ทั้งสามสำนวนให้การมีใจความว่า เหตุที่เกิดรถชนกันขึ้นครั้งนี้เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๒ แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ ๑ มิได้มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิด และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ ก็ไม่ต้องรับผิดด้วยเช่นกัน โจทก์ที่ ๑ เสียหายไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒ ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายโดยอ้างสาเหตุจากความเศร้าโศกเสียใจ ค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับโจทก์ที่ ๓ ไม่เกินเดือนละ ๑๐๐ บาท โจทก์ที่ ๔ และที่ ๕ เสียหายรวมกันไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๖ เสียหายไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท และค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับโจทก์ที่ ๗ (เด็กหญิงจิราภรณ์ เด็กหญิงจริยา เด็กหญิงจิรายุส) ไม่เกินคนละ ๑๐๐ บาทต่อเดือน ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ให้เป็นพับ ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันชดใช้เงินให้แก่โจทก์ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๗ (เด็กหญิงจิราภรณ์ เด็กหญิงจริยา และเด็กหญิงจิรายุส) เป็นจำนวนเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท, ๓๗,๕๐๐ บาท, ๔๐,๐๐๐ บาท, ๗,๕๐๐ บาท, ๒๔,๐๐๐ บาท,๒๙,๖๖๐ บาท และ ๔๐,๘๐๐ บาท ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวและจำนวนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยฎีกาว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทุกคนจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงไม่ควรที่โจทก์จะมาเรียกร้องเอากับจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ อีกนั้น ได้ความว่า ค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ชดใช้แก่โจทก์ที่ ๓ ถึงที่ ๗ เพียงครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ดังกล่าว เพราะจำเลยที่ ๒ มีความประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยที่ ๑ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ มีส่วนประมาทอยู่ด้วยดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ ๑ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ ๓ ในฐานะนายจ้างร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ การที่โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนายจ้างของจำเลยที่ ๒ ไปแล้วนั้น หากความจริงจะเป็นดังที่จำเลยฎีกาก็เป็นเรื่องค่าเสียหายเฉพาะส่วนที่จำเลยที่ ๒ ทำละเมิดต่อโจทก์ หาได้ครอบคลุมไปถึงจำนวนค่าเสียหายในส่วนที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ จะต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยไม่ โจทก์จึงยังคงมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ได้
พิพากษายืน