คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คู่มือพนักงาน ฯ หมวดที่ 5 ข้อ 5.3 การครบเกษียณอายุ ตามข้อ 5.3.1 นั้น ปกติพนักงานชายจะเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ60 ปีบริบูรณ์ แต่มีข้อยกเว้นตามข้อ 5.3.3 ว่า จำเลยผู้เป็นนายจ้างหรือพนักงานของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานชายที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ละฝ่ายอาจขอให้รับการปลดเกษียณก่อนมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ก็ได้ ซึ่งหากจำเลยผู้เป็นนายจ้างหรือพนักงานผู้เป็นลูกจ้างขอให้รับการปลดเกษียณก่อนดังกล่าวแล้ว ย่อมมีผลเป็นการปลดเกษียณโดยได้รับเงินบำเหน็จด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนการลาออกตามข้อ 5.2 นั้น เป็นเรื่องที่ลูกจ้างขอเลิกสัญญาจ้างแรงงานกรณีที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิขอให้ได้รับการปลดเกษียณตามข้อ 5.3.3 หรือมีสิทธิตามข้อ 5.3.3 แต่ลูกจ้างไม่ประสงค์จะให้ได้รับสิทธิเช่นนั้นเท่านั้นโจทก์มีหนังสือแจ้งแก่จำเลยว่า โจทก์ขอลาเกษียณอายุก่อนกำหนด ขอได้พิจารณาอนุมัติตามระเบียบต่อไป จึงเป็นเรื่องโจทก์ใช้สิทธิขอลาเกษียณอายุก่อนกำหนดตามข้อ 5.3.3 แม้โจทก์จะอ้างว่า โจทก์มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ไว้ด้วย ก็เป็นเพียงเหตุที่โจทก์ไม่ประสงค์จะปฏิบัติงานจนมีอายุครบ 60 บริบูรณ์ จึงขอใช้สิทธิตามข้อ 5.3.3 เท่านั้น รูปเรื่องจึงมิใช่ขอลาออกตามข้อ 5.2 แต่เป็นเรื่องจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุแล้ว จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้มีระเบียบที่เรียกว่าคู่มือพนักงานหมวดที่ ๕ ว่าด้วยการพ้นจากการเป็นพนักงาน ซึ่งในข้อ ๕.๓.๓ กำหนดว่า “บริษัทหรือตัวพนักงานเองอาจขอให้พนักงานได้รับการปลดเกษียณก่อนครบเกษียณอายุโดยได้รับเงินบำเหน็จดังกล่าวข้างต้นได้ ภายในระยะเวลาไม่เกิน ๕ ปี ก่อนครบเกษียณอายุ โดยแจ้งความจำนงให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๖ เดือน ” ข้อ ๕.๓.๑ กำหนดว่า “พนักงานชายผู้มีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ ถือว่าครบเกษียณอายุ ” โจทก์มีอายุครบ ๕๕ ปีบริบูรณ์ ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ข้อ ๕.๓.๓ ที่จะขอเกษียณอายุได้ จำเลยไม่ได้ให้โจทก์ออกโดยไม่มีความผิด แต่โจทก์ขอลาออกโดยอ้างว่าสุขภาพไม่สมบูรณ์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษา ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๒๑๒,๗๐๐ บาทให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหามีว่า การลาออกของโจทก์ตามระเบียบของจำเลยข้อ ๕.๓ เป็นการเลิกจ้างหรือไม่ เห็นว่า ตามคู่มือพนักงานบริษัทล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพฯ) จำกัด เอกสารหมาย จ.ล.๓ หมวดที่ ๕ การพ้นจากการเป็นพนักงาน ข้อ ๕.๓ การครบเกษียณอายุ โดยข้อ ๕.๓.๑ กำหนดว่า พนักงานชายผู้มีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ และพนักงานหญิงผู้มีอายุครบ ๕๕ ปีบริบูรณ์ถือว่าครบเกษียณอายุ และข้อ ๕.๓.๑ กำหนดว่า บริษัทหรือตัวพนักงานเองอาจขอให้พนักงานได้รับการปลดเกษียณก่อนครบเกษียณอายุ โดยได้รับเงินบำเหน็จดังกล่าวข้างต้นได้ภายในเวลาไม่เกิน ๕ ปีก่อนครบเกษียณอายุ โดยแจ้งความจำนงให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๖ เดือน เช่นนี้ จึงเห็นได้ชัดถึงความหมายของการเกษียณอายุของลูกจ้างของจำเลยได้ว่า ตามปกติแล้วพนักงานชายจะเกษียณอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ ส่วนพนักงานหญิงจะเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ ๕๕ ปีบริบูรณ์ แต่ก็มีข้อยกเว้นไว้ว่า จำเลยผู้เป็นนายจ้างก็ดีหรือพนักงานของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานชายที่มีอายุ ๕๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรือพนักงานหญิงที่มีอายุ ๕๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไปก็ดี แต่ละฝ่ายอาจขอให้รับการปลดเกษียณก่อนมีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์และ ๕๕ ปีบริบูรณ์ ตามลำดับก็ได้ ซึ่งหากจำเลยผู้เป็นนายจ้าง หรือพนักงานผู้เป็นลูกจ้างขอให้รับการปลดเกษียณก่อนดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมมีผลเป็นการปลดเกษียณด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนการลาออกตามข้อ ๕.๒ นั้นเป็นเรื่องที่ลูกจ้างขอเลิกสัญญาจ้างแรงงานกรณีที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิขอให้ได้รับการปลดเกษียณตามข้อ ๕.๓.๓ หรือมีสิทธิตามข้อ ๕.๓.๓ แต่ลูกจ้างไม่ประสงค์จะให้ได้รับสิทธิเช่นนั้นเท่านั้น สำหรับคดีนี้โจทก์ได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.ล.๑ แจ้งแก่จำเลยว่าโจทก์ขอลาเกษียณอายุก่อนกำหนด ขอให้พิจารณาอนุมัติตามระเบียบต่อไป จึงเป็นเรื่องโจทก์ใช้สิทธิตามข้อ ๕.๓.๓ แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ไว้ด้วยก็เป็นเพียงเหตุที่โจทก์ไม่ประสงค์จะปฏิบัติงานจนมีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ จึงขอใช้สิทธิตามข้อ ๕.๓.๓ เท่านั้น รูปเรื่องจึงมิใช่โจทก์ขอลาออกตามข้อ ๕.๒ แต่เป็นเรื่องจำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะเหตุเกษียณอายุแล้ว
พิพากษายืน

Share