คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นิติบุคคลจะรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของนิติบุคคลได้กระทำให้เกิดความเสียหายหรือทำละเมิดขณะทำการตามหน้าที่และอยู่ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของนิติบุคคลเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76
พลตำรวจ ว. กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นตำรวจไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยที่บ้านซึ่งจัดงาน แต่ตำรวจทั้ง 3 ดื่มสุรามึนเมามีเรื่องทะเลาะกับพวกชาวบ้านจนเจ้าภาพต้องเชิญให้กลับออกไป เมื่อไปถึงถนนพลตำรวจ ว. ได้กระชากลูกเลื่อนปืนในลักษณะข่มขู่พวกชาวบ้านเป็นเหตุให้ปืนลั่น 1 นัดกระสุนปืนไปถูกโจทก์ซึ่งนั่งอยู่ในบ้านงานได้รับบาดเจ็บพิการไปตลอดชีวิต การที่พลตำรวจ ว. กระทำดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของพลตำรวจ ว.และไม่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยตามวัตถุประสงค์ของกรมตำรวจจำเลยที่ 1 กรมตำรวจจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้กรมตำรวจจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ในกรณีที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ กับพลวัชรพงศ์ไปรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านซึ่งมีการจัดงานและพลวัชรพงศ์กระชากลูกเลื่อนปืนเพื่อข่มขู่ชาวบ้าน เป็นเหตุให้ปื่นลั่นกระสุนปืนถูกโจทก์ได้รับบาดเจ็บจนพิการตลอดชีวิต โดยเรียกค่าเสียหาย ๕๗๖,๒๐๓ บาท
จำเลยทั้งสามให้การว่า การที่พลวัชรพงศ์กระชากลูกเลื่อนปืน เป็นเหตุให้กระสุนปืนถูกโจทก์นั้น เป็นการกระทำนอกหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดชอบและเป็นการกระทำโดยประมาทของพลวัชรพงศ์เป็นส่วนตัวโดยจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ มิได้รู้เห็นและร่วมด้วย จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายมากเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อคืนวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๒๓ มีงานบวชนาคที่บ้านนายเพิ่ม กำลังเกื้อ ซึ่งเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหารและรำวง มีคนไปในบ้าน ๑๐๐ คนเศษ ขณะนั้นจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ กับพลตำรวจวัชรพงศ์เป็นตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในสังกัดกรมตำรวจจำเลยที่ ๑ และได้ไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยที่บ้านงานด้วย แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสามได้ดื่มสุรามึนเมามีเรื่องทะเลาะกับพวกชาวบ้านจนเจ้าภาพต้องเชิญให้กลับออกไปตอนออกมาจากบ้านงานจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เดินนำหน้าไปก่อน พลตำรวจวัชรพงศ์เดินตามหลัง เมื่อมาถึงถนนพลตำรวจวัชรพงศ์ได้กระชากลูกเลื่อนปืนในลักษณะข่มขู่พวกชาวบ้าน เป็นเหตุให้ปืนลั่นขึ้น ๑ นัด แล้วกระสุนปืนไปถูกแขนขวาโจทก์ซึ่งตอนนั้นนั่งอยู่ในบริเวณบ้านงาน และทำให้โจทก์บาดเจ็บสาหัสต้องถูกตัดแขนขวาออกกลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิตคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์เพียงข้อเดียวว่า จำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดในการที่พลตำรวจวัชรพงศ์ทำละเมิดต่อโจทก์ครั้งนี้หรือไม่เห็นว่าพลตำรวจวัชรพงศ์ไม่ใช่ลูกจ้าง แต่เป็นข้าราชการตำรวจและมีหน้าที่ปฏิบัติราชการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยแทนจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาล และมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายจึงต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๖ ซึ่งบัญญัติว่า ‘ผู้จัดการทั้งหลายก็ดี ผู้แทนอื่น ๆ ก็ดีของนิติบุคคล หากทำการตามหน้าที่ได้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใดแก่บุคคลอื่นไซร้ ท่านว่านิติบุคคลจำต้องเสียค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น แต่มีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่ตัวผู้เป็นต้นเหตุทำความเสียหายได้ภายหลัง
ถ้าและความเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้นเกิดแต่ทำการอันใดอันหนึ่งซึ่งมิได้อยู่ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์แห่งนิติบุคคลนั้นไซร้ ท่านว่าสมาชิกหรือผู้จัดการทั้งหลายเหล่านั้น บรรดาที่ได้ออกเสียงลงมติให้ทำการเช่นนั้น กับทั้งผู้จัดการและผู้แทนอื่น ๆ ทั้งหลายบรรดาที่ได้ลงมือทำการจะต้องรับผิดร่วมกันออกค่าสินไหมทดแทน’ หมายความว่า นิติบุคคลจะรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของนิติบุคคลได้ทำให้เกิดความเสียหายหรือทำละเมิดขณะทำการตามหน้าที่และอยู่ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของนิติบุคคลเท่านั้น แม้ในตอนแรกพลตำรวจวัชรพงศ์กับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เข้าไปในบ้านงานบวชนาคเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย พอถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสามปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แต่ตอนหลังเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสามไปรับประทานอาหารดื่มสุรามึนเมาและมีเรื่องทะเลาะกับชาวบ้าน แล้วพลตำรวจวัชรพงศ์กระชากลูกเลื่อนปืนข่มขู่ชาวบ้านจนเป็นเหตุให้ปืนลั่น และกระสุนปืนไปถูกโจทก์บาดเจ็บนั้น ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของพลตำรวจวัชรพงศ์และไม่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ แต่อย่างใด จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ รูปคดีไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าเสียหายอีกต่อไป ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share