คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2467/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีละเมิดได้บรรยายค่าเสียหายไว้ตามบัญชีที่ 1 กับรายการโฆษณาตามบัญชีที่ 3 ท้ายฟ้อง มีชื่อผู้เช่าและระบุวันเดือนปีที่ออกรายการ รวมทั้งเงินค่าเช่าและจำนวนเงินที่ค้างชำระไว้ด้วย ซึ่งก็ชัดแจ้งเพียงพอที่จำเลยที่ 3 จะเข้าใจและต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนรายละเอียดอื่นกับหลักฐานอันเป็นที่มาของรายการดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณาคดี คำฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม
ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ได้กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาเข้มงวดกวดขันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ หากละเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้พิจารณาความรับผิดทางแพ่งและพิจารณาโทษทางวินัยด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นข้าราชการของโจทก์ ในตำแหน่งรับผิดชอบควบคุมบังคับบัญชาการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 แต่ปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ควบคุมดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ตามระเบียบของกระทรวงการคลังจนจำเลยที่ 1 ทำละเมิดและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 เข้าลักษณะประมาทเลินเล่อและมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ด้วย จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาที่แต่ละคนเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 โดยถือว่าจำเลยทั้งสองก็มีส่วนทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องใจความว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ เป็นข้าราชการของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งนายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ ถึงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๒ ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ เขตสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๑๗ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๑๘ จำเลยที่ ๓ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์เขต ๓ สุราษฎร์ธานีสืบต่อจากจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ต่างทำหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ ตามระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง มีหน้าที่ควบคุมจำเลยที่ ๑ ให้ปฏิบัติตามระเบียบ แต่บกพร่องปล่อยปละละเลยไม่ทำการตรวจสอบควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๑ ให้เป็นไปตามระเบียบเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินไปจำนวน ๒๖๒,๒๐๕ บาท จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ขอให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ ๒ ร่วมชดใช้เป็นเงิน ๕๗,๘๕๐ บาท และให้จำเลยที่ ๓ ร่วมชดใช้เป็นเงิน ๒๐๔,๓๕๕ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การต่อสู้คดีหลายประการและปฏิเสธว่าไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระเงิน ๒๖๒,๒๐๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับจำเลยที่ ๒ ให้ร่วมรับผิดเป็นเงิน ๕๗,๘๕๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยที่ ๓ให้ร่วมรับผิดเป็นเงิน ๒๐๔,๓๕๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ขาดอายุความ ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ค่าฤชาธรรมเนียมของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ขาดอายุความฟ้องร้อง พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาคดีใหม่แล้ว พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เมื่อปรากฏชัดว่าโจทก์เป็นกรมในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และได้แบ่งส่วนราชการในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ มีศูนย์ประชาสัมพันธ์เขตอยู่ ๓ เขต จริง โจทก์จึงเป็นกรมในรัฐบาลและมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๒, ๗๓ การฟ้องคดีนี้ นายกำจัด กีพานิช อธิบดีกรมโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายดนัย ศรียาภัย ฟ้องแทนตามเอกสารหมาย จ.๑ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม เห็นว่าค่าเสียหายตามบัญชี ๑ กับรายการโฆษณาตามบัญชี ๓ ที่แนบท้ายฟ้องมีชื่อผู้เช่า และระบุวันเดือนปีที่ออกรายการ รวมทั้งเงินค่าเช่าและจำนวนเงินที่ค้างชำระไว้ด้วย ซึ่งก็ชัดแจ้งเพียงพอที่จำเลยที่ ๓ จะเข้าใจและต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนรายละเอียดอื่นกับหลักฐานอันเป็นที่มาของรายการดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณาคดี คำฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม
ส่วนจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามระเบียบของกระทรวงการคลังในหนังสือเอกสารหมาย จ.๓๔ ได้กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาเข้มงวดกวดขันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ หากละเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้พิจารณาความรับผิดทางแพ่งและพิจารณาโทษทางวินัยด้วยจำเลยที่ ๒ ได้ปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ควบคุมดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ได้ปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ควบคุมดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๑ เช่นเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เข้าลักษณะประมาทเลินเล่อและมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ด้วย จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างที่ตนเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ ตามระเบียบของกระทรวงการคลังในหนังสือเอกสารหมาย จ.๓๔ โดยถือว่าจำเลยทั้งสองก็มีส่วนทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ จำเลยที่ ๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์เขต ๓ตามคำสั่งเอกสารหมาย จ.๖ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ และพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวในเดือนตุลาคม ๒๕๑๘ จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.๓๕ เป็นเงิน ๕๗,๘๕๐ บาท สำหรับจำเลยที่ ๓ นั้น เดิมเป็นนายสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดสุราษฎร์ธานีและโจทก์ได้แต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์เขต ๓ อีกหน้าที่หนึ่งตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๘ ตามคำสั่งเอกสารหมาย จ.๓ แล้วผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์เขต ๓ จึงมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๓ รับผิดชอบควบคุมบริหารงานสถานีวิทยุโทรทัศน์และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ๗ จังหวัด รวมทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๘ เป็นต้นไปจำเลยที่ ๓ จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๑๘ เป็นต้นไปเท่านั้น จะให้จำเลยที่ ๓ รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามบัญชีเอกสารหมาย จ.๓๖ ทั้งหมดไม่ได้ จำเลยที่ ๓ คงจะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๔๗,๐๑๗.๘๘ บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดเป็นเงิน ๑๔๗,๐๑๗.๘๘ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share