แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าตามคำเบิกความของพยานทุกปากไม่มีผู้ใดยืนยันว่าโจทก์ทราบมาก่อนว่า อ. เคยทุจริตต่อหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน พยานโจทก์ทุกปากยืนยันว่าโจทก์ไม่ทราบ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ว่าโจทก์ทราบเรื่องนี้จึงขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวนนั้น ปัญหาว่าโจทก์ทราบข้อที่ อ. เคยทุจริตต่อหน้ามาก่อนจริงหรือไม่ ศาลควรรับฟังคำพยานผู้ใด ฝ่ายใด เป็นดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
ระเบียบปฏิบัติงานภาคการพนักงานฯ ระบุว่าพนักงานที่ออกจากงานมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเว้นแต่ “ออกจากงานเพราะกระทำการทุจริตในหน้าที่หรือ เพราะกระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเพราะเกียจคร้านไม่ตั้งใจปฏิบัติงานเป็นเหตุให้ธนาคารต้องเสียหายและคณะกรรมการธนาคารเห็นว่า ไม่สมควรจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพให้” นั้น เห็นได้ว่า กรณีการทุจริตให้หน้าที่หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นความผิดชั้นร้ายแรงไม่จำต้องให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณา ส่วนการเกียจคร้านไม่ตั้งใจปฏิบัติงานมิใช่ความผิดขั้นร้ายแรงจึงต้องให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณาอีกชั้นหนึ่งว่าสมควรให้เงินทุนเลี้ยงชีพแก่พนักงานผู้นั้นหรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้รักษาเงิน ประจำสาขาพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานโดยอ้างว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ และมีพฤติการณ์ที่ขาดความไว้วางใจ อันเป็นผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่เป็นความจริง การที่จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานจึงเป็นการกลั่นแกล้งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและค่าจ้างเดิม หากไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ให้จ่ายค่าชดเชย เงินสะสมที่ได้รับจากโจทก์ค่าครองชีพ และค่าเสียหายที่เกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมรวม ๖๐๐,๕๘๖.๘๙ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่า จะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์มีพฤติการณ์ร่วมกระทำการทุจริตกับนายอนุพงษ์ ศิษฎคมน์และยังกระทำผิดต่าง ๆ อีกคือ ไม่ระวังรักษาผลประโยชน์ของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ทุจริตต่อหน้าที่ รายงานเท็จ และมีพฤติการณ์ที่ขาดความไว้วางใจ การกระทำของโจทก์เป็นการผิดวินิจอย่างร้ายแรงตามระเบียบปฏิบัติงานภาคการพนักงานฯ การไล่โจทก์ออกจึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย และค่าชดเชยเงินสะสมนั้นความจริงเป็นเงินทุนเลี้ยงชีพ จะไม่จ่ายแก่พนักงานที่ถูกไล่ออกเพราะทุจริตต่อหน้าที่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ไม่รักษาผลประโยชน์ของจำเลยในทางที่ถูกที่ควร ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงไล่โจทก์ออกได้ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ไม่มีสิทธิเรียกค่าครองชีพ ค่าเสียหาย ไม่มีสิทธิเรียกเงินทุนเลี้ยงชีพตามระเบียบปฏิบัติงาน ภาคการพนักงานฯ ที่จะไม่จ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพกรณีออกจากงานเพราะกระทำ การประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามคำเบิกความของพยานทุกปากไม่มีผู้ใดยืนยันว่าโจทก์ทราบมาก่อนว่านายอนุพงษ์ ศิษฎคมน์ เคยทุจริตต่อหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน พยานโจทก์ทุกปากกลับยืนยันว่า โจทก์ไม่ทราบคำวิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่เรื่องนี้จึงนัดต่อพยานหลักฐานในสำนวน ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ทราบข้อที่นายอนุพงษ์ ศิษฏคมน์ เคย ทุจริตต่อหน้าที่มาก่อนจริงหรือไม่ ศาลควรรับฟังคำพยานผู้ใด ฝ่ายใด เป็นดุลยพินิจ ในการชั่งน้ำหนักรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นข้อเท็จจริง อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้เป็นการฝ่าฝืนต่อ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคแรก ศาลฎีกาได้รับวินิจฉัย
โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพ เพราะระเบียบปฏิบัติงานภาคการพนักงาน ภาค ๒ การสวัสดิการสงเคราะห์ ข้อ ๒.๔.๒ ไม่ว่า การออกจากงานเพราะกระทำการทุจริตในหน้าที่ หรือเพราะกระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเพราะเกียจคร้านไม่ตั้งใจปฏิบัติงานเป็นเหตุให้จำเลยเสียหาย พนักงานผู้นั้นจะไม่ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพก็ต่อเมื่อคณะกรรมการของจำเลยเห็นว่าไม่สมควรจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพให้ กรณีของโจทก์ คณะกรรมการของจำเลยมิได้มีความเห็นว่าไม่สมควรจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพ ให้โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพ ๔๘,๙๔๐.๔๘ บาท พิเคราะห์แล้ว ระเบียบฯ ภาค ๒ ข้อ ๒.๔.๒ มีความว่า “ออกจากงานเพราะทำการทุจริตในหน้าที่ หรือเพราะกระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเพราะเกียจคร้านไม่ตั้งใจปฏิบัติงานเป็นเหตุให้ธนาคารต้องเสียหาย และคณะกรรมการธนาคารเห็นว่า ไม่สมควรจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพให้” ศาลฎีกาเห็นว่า การทุจริตในหน้าที่ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นกรณีที่เห็นได้อย่างประจักษ์ชัดเจนอยู่ในตัวว่าเป็นผิดชั้นร้ายแรง หาสมควรจะได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพไม่ ทั้งนี้ โดยไม่จำต้องมีผู้ใดจักต้องพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ส่วนการเกียจคร้านไม่ตั้งใจปฏิบัติงาน หาใช่เป็นความผิดชั้นร้ายแรงไม่ หากแต่เกิดความเสียหาย จำเลยจึงต้องให้ออกจากงาน ความผิดเพียงเท่านี้ยังไม่ร้ายแรง จึงเป็นการสมควรจักต้องพิจารณาเสียชั้นหนึ่งว่า สมควรจะให้เงินทุนเลี้ยงชีพแก่พนักงานผู้นั้นหรือไม่ ความตอนท้ายที่ว่า และคณะกรรมการเห็นว่าไม่สมควรจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพให้นั้น เป็นหลักเกณฑ์ที่นำไปประกอบการพิจารณากระทำผิดข้อที่เกียจคร้านไม่ตั้งใจปฏิบัติงานโดยเฉพาะเท่านั้น หาใช่นำไปพิจารณากระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่และการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงสองข้อต้นด้วยไม่
พิพากษายืน