คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1495/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งให้ปลัดเทศบาลเมือง จำเลยที่ 5 จดข้อความลงในทะเบียนบ้านว่า โจทก์ทั้งหกเป็นญวนอพยพ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 1 และปลัดกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 2 ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ต้องรับผิดร่วมด้วย ดังนี้ แม้การถอนสัญชาติไทยจะเป็นผลของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มิใช่เป็นการกระทำของจำเลย แต่ก็เป็นการโต้แย้งสิทธิในเรื่องสัญชาติของโจทก์ ทั้งโจทก์ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดเพราะจำเลยเพิกถอนสัญชาติ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของนาง ด. คนสัญชาติไทย เกิดกับ อ. คนสัญชาติญวน โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 เกิดกับ ม. คนสัญชาติญวน ส่วนโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 เกิดกับ น.โจทก์ทั้งหกเกิดในราชอาณาจักรไทยและบิดาของโจทก์ทุกคนเป็นบิดาที่มิชอบด้วยกฎหมาย เช่นนี้ โจทก์ที่ 1 ไม่ถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 เพราะ อ. เป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะถูกถอนสัญชาติไทย โดยเหตุที่บิดาเป็นคนต่างด้าว ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวนั้น จะต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อโจทก์ที่ 1 มารดาของโจทก์ที่ 2 ไม่ใช่คนต่างด้าว และ ม. ก็มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2 กรณีจึงไม่ต้องด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1 (2) อันจะเป็นผลให้โจทก์ที่ 2 ถูกถอนสัญชาติไทย กรณีเช่นเดียวกับ โจทก์ที่ 3 ถึงโจทก์ที่ 6 ที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นมารดามิได้เป็นคนต่างด้าว จึงไม่ถูกถอนสัญชาติไทยเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นคนสัญชาติไทย เกิดในราชอาญาจักรไทย เป็นบุตรนางเดือนคนสัญชาติไทยและนายอ่อน บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คนสัญชาติญวนที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยถูกต้อง โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๖ เป็นบุตรของโจทก์ ที่ ๑ เกิดในราชอาณาจักรโดยถูกต้อง โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๖ เป็นบุตรของโจทก์ที่ ๑ เกิดในราชอาณาจักรจึงได้สัญชาติไทย ต่อมาจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้แจ้งให้ จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ในฐานเป็นนายอำเภอเมืองอุบลราชธานี และปลัดเทศบาลเมืองอุบลราชธานีตามลำดับว่า โจทก์ทั้งหกเป็นคนต่างด้าวสัญชาติญวนเป็นญวนอพยพมีบิดาเป็นญวนอพยพ ได้ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ จำเลยที่ ๔ ได้จดข้อความลงในทะเบียนบ้านว่า โจทก์ทั้งหกเป็นคนญวนอพยพ อันเป็นการกระทำตามหน้าที่และคำสั่งของทางราชการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตามลำดับจึงต้องร่วมรับผิดตามจำเลยอื่นด้วย ขอให้พิพากษาว่า โจทก์ทั้งหกเป็นคนสัญชาติไทย ให้จำเลยร่วมกันเพิกถอนข้อความที่ว่า โจทก์เป็นคนญวนอพยพในทะเบียนบ้าน
จำเลยทั้งห้าให้การว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นคนญวนต่างด้าว นายอ่อนและนางเดือนบิดามารดาโจทก์ที่ ๑ เป็นญวนอพยพเข้าเมืองมาโดยมิชอบ โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๖ เป็นบุตรของหญิงญวนอพยพ โจทก์ทั้งหมดไม่ใช่คนสัญชาติไทย ส่วนจำเลยทั้งหมดเป็นข้าราชการมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย การเสียสัญชาติไทยเป็นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ มิใช่ตามคำสั่งของจำเลย โจทก์เข้าใจเองว่า การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของคน กรณีไม่ใช่การโต้แย้งสิทธิของโจทก์ และฟ้องขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง คดีไม่ขาดอายุความ พิพากษาว่าโจทก์ทั้งหกเป็นคนสัญชาติไทย ให้เพิกถอนข้อความที่ว่าโจทก์เป็นคนญวนอพยพออกจากทะเบียนบ้านโจทก์
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๔ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๕ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นบุตรของนางเดือน แซ่เตียว ซึ่งเกิดกับนายอ่อน โฮเตียวหรือแซ่เตียว นางเดือนมีสัญชาติไทย นายอ่อน มีสัญชาติญวน โจทก์ที่ ๒ เป็นบุตรของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งเกิดกับนายมินคนสัญชาติญวน ส่วนโจทก์ที่ ๓, ที่ ๔, ที่ ๕ และที่ ๖ เป็นบุตรของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งเกิดกับนายนิพนธ์ โจทก์ทั้งหกเกิดในราชอาณาจักรไทยและบิดาของโจทก์ทุกคนเป็นบิดาที่มิชอบด้วยกฎหมายในปัญหาที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ที่ ๑ เกิด ในระหว่างที่นายอ่อนบิดาเป็นญวนอพยพลี้ภัยการเมืองเข้ามาในประเทศไทย โดยได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว โจทก์ที่ ๑ จึงถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ข้อ ๑ (๒) นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะถูกถอนสัญชาติไทย โดยเหตุที่บิดาเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวนั้น จะต้องเป็นกรณีที่บิดาของผู้นั้นเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานในคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๘/๒๕๒๔ ระหว่างนางสาวดาว เกษสิมมา กับพวก ผู้ร้องผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ผู้คัดค้าน ฉะนั้น เมื่อนายอ่อนเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ กรณีก็ไม่ต้องด้วย ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว โจทก์ที่ ๑ จึงหาถูกถอนสัญชาติไทยไม่
สำหรับกรณีของโจทก์ที่ ๒ นั้น จำเลยฎีกาว่าทั้งบิดามารดาของโจทก์ที่ ๒ คือโจทก์ที่ ๑ และนายมินเป็นคนต่างด้าวสัญชาติญวน เป็นคนญวนอพยพที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเพียงชั่วคราว โจทก์ที่ ๒ จึงต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ข้อ ๑ (๒) เช่นกัน วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ที่ ๑ มิอาจถูกถอนสัญชาติไทยดังได้วินิจฉัยมาแล้ว โจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ที่ ๒ ก็มิใช่คนต่างด้าว และเมื่อนายมินก็มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ ๒ ด้วย กรณีจึงไม่ต้องด้วย ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ข้อ ๑(๒) อันจะเป็นผลให้โจทก์ที่ ๒ ถูกถอนสัญชาติไทย ส่วนโจทก์ที่ ๓ ถึงโจทก์ที่ ๖ นั้น เมื่อโจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นมารดา ของโจทก์ที่ ๖ มิได้เป็นคนต่างด้าวดังได้ วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่ถูกถอนสัญชาติไทยเช่นกัน
สำหรับฎีกาของจำเลยในเรื่องอำนาจฟ้องนั้น จำเลยฎีกาว่า จำเลยที่ ๓ ไม่มีอำนาจเพิกถอนสัญชาติและไม่ได้สั่งเพิกถอนสัญชาติของโจทก์จำเลยที่ ๕ เพียงแต่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นผู้เพิกถอนสัญชาติของโจทก์เช่นกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในคดีนี้ เพราะโจทก์ถูกถอนสัญชาติโดยกฎหมาย ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้การถอนสัญชาติเป็นผลของ ประกาศของคณะปฏิวัติ มิใช่เป็นการกระทำของจำเลย แต่โจทก์ฟ้องด้วยว่าจำเลยที่ ๓ ได้ออกคำสั่งให้จำเลยที่ ๕ จดข้อความลงในทะเบียนบ้านว่า โจทก์ทั้งหกเป็นญวนอพยพ เป็นการโต้แย้งสิทธิในเรื่องสัญชาติของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ และ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๓ และที่ ๕ ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๓ และที่ ๕ โจทก์หาได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดเพราะจำเลยเพิกถอนสัญชาติของโจทก์ดังจำเลยฎีกาไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
พิพากษายืน

Share