คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1249/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยต้องรับผิดในผลของการกระทำละเมิดแล้วก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เต็มจำนวน แม้โจทก์จะมีสิทธิเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการได้ก็เป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ จำเลยจะนำมาหักความรับผิดของตนหาได้ไม่
จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดีมา 1 ปีเศษ จึงนำพยานเข้าสืบได้ปากเดียว ศาลสั่งงดเพราะเห็นว่าเป็นการประวิงคดีนั้นเป็นดุลพินิจที่ชอบแล้ว
ผู้ขับรถยนต์ทั้งสองฝ่ายชนกันโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียหายและไม่อาจแบ่งแยกผลของการละเมิดแต่ละฝ่ายใดประมาทมากน้อยกว่ากัน ศาลมีอำนาจกำหนดให้เฉลี่ยความรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายฝ่ายละเท่า ๆ กันได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณาและเรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ ๑ สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ ๒ โจทก์ที่ ๓
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นกรมในรัฐบาลเป็นเจ้าของรถยนต์คันที่เสียหาย โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ เป็นข้าราชการสังกัดกรมโจทก์ที่ ๑ จำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ให้จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๔ เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ให้จำเลยที่ ๓ วันเกิดเหตุจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์ที่ ๑ โดยมีโจทก์ที่ ๓ เป็นผู้ขับขี่ เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ ๑ เสียหายและโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ได้รับบาดเจ็บขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามตามฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่มีอำนาจฟ้องเหตุที่เกิดรถชนกันเกิดจากโจทก์ที่ ๓ ขับรถยนต์โดยประมาท โจทก์ทั้งสามเรียกค่าเสียหายสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ ไม่ใช่ลูกจ้างและปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๓ เหตุที่เกิดรถยนต์ชนกันเพราะความประมาทของโจทก์ที่ ๓ โจทก์ทั้งสามเรียกค่าเสียหายมาสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาทให้แก่โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน๙๓,๙๗๘ บาท ให้แก่โจทก์ที่ ๓ เป็นเงิน ๑,๒๕๖ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๔๖,๙๘๙ บาท และให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒เป็นเงิน ๔๖,๙๘๙ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ ๑ จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ต่างประมาทไม่น้อยกว่ากันและวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์ที่ ๒ เป็นข้าราชการมีสิทธิเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลเพราะความป่วยเจ็บได้โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยที่ ๑ เต็มจำนวน และการที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ ๑ ที่ขอให้ส่งประเด็นไปสืบที่ศาลจังหวัดนครปฐมเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดในผลของการกระทำละเมิดแล้วก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เต็มจำนวน ส่วนที่โจทก์จะมีสิทธิเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลได้หรือไม่นั้นเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ จำเลยจะนำมาหักความรับผิดของตนหาได้ไม่ ส่วนที่ศาลล่างสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ ๑ นั้น ก็เพราะจำเลยที่ ๑ ได้ขอเลื่อนคดีมาเรื่อยเป็นเวลา ๑ ปีเศษ จึงนำพยานเข้าสืบได้ปากเดียว จึงสั่งงดเพราะเห็นว่าเป็นการประวิงคดี คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานนั้นเห็นว่าเป็นดุลพินิจที่ชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต่อไปตามที่โจทก์ที่ ๑ ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ให้เฉลี่ยความรับผิดของจำเลยทั้งสี่โดยให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๓๐,๐๐๐ บาท และให้จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๓๐,๐๐๐ บาท เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าไม่อาจแบ่งแยกผลของการละเมิดว่าจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ ฝ่ายใดประมาทมากน้อยกว่ากัน จึงกำหนดให้เฉลี่ยความรับผิดฝ่ายละเท่ากันนั้นเห็นว่าชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share