แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีข้อความตอนใดแสดงให้เห็นว่าโจทก์ผู้ขายเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่า จะขายทรัพย์สินนั้น หรือจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 แต่สัญญาดังกล่าวนอกจากใช้ชื่อว่าหนังสือสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขแล้ว ข้อความตามหนังสือสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นสัญญาซื้อขายรถยนต์โดยโจทก์ผู้ขายยอมให้จำเลยผู้ซื้อผ่อนชำระราคามีเงื่อนไขว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อผู้ซื้อผ่อนชำระราคาครบถ้วนแล้ว ทั้งในกรณีผิดนัดผิดสัญญา หรือทรัพย์ตามสัญญาสูญหายก็ยังให้สิทธิผู้ขายได้รับชำระค่ารถส่วนที่ยังค้างชำระเต็มราคาค่ารถที่ซื้อขายแสดงให้เห็นว่า กรณีจะเป็นประการใดก็ตาม คู่กรณีมีเจตนาให้ผู้ขายได้รับชำระราคารถยนต์ที่ซื้อขายจนครบถ้วนเท่านั้น ไม่มีข้อตกลงว่าถ้าผู้ซื้อผิดนัดผิดสัญญา ให้ผู้ขายริบบรรดาเงินที่ผู้ซื้อได้ใช้มาแล้ว และผู้ขายเข้าครองรถยนต์เป็นของตนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 574 สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิตาม มาตรา 459 หาใช่สัญญาเช่าซื้อไม่ การที่ผู้ขายกำหนดเงื่อนไขการรักษา การใช้ และการเอาประกันภัยรถยนต์ในระหว่างผ่อนใช้ราคาไม่ครบก็ดี ให้ผู้ซื้อต้องมีผู้ค้ำประกันในการปฏิบัติตามสัญญาก็ดี ก็เป็นเพียงการสงวนทรัพย์สินและแสวงหาหลักประกันของผู้เขายเพื่อให้ได้รับชำระราคาครบถ้วนแน่นอนยิ่งขึ้นเท่านั้น หาเป็นเหตุให้สัญญากลายเป็นการเช่าซื้อไม่
สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขระบุว่า แม้ว่าสัญญาฉบับนี้จะผ่านการโอนการต่ออายุหรือการเปลี่ยนมืออย่างใด หรือตัวยานยนต์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาต้องประสบความสูญเสียเสียหายหรือย่อยยับประการใด ผู้ซื้อก็หาหลุดพ้นจากหน้าที่รับผิดตามสัญญาฉบับนี้แต่อย่างใดไม่ ข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายรวมตลอดถึงยานยนต์สูญหายไปเพราะเหตุถูกคนร้ายลักไปด้วย ฉะนั้น เมื่อระหว่างที่จำเลยชำระเงินค่าซื้อรถยนต์ตามสัญญายังไม่ครบถ้วน รถถูกคนร้ายลักไปยังไม่ได้กลับคืนมา จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์แก่โจทก์จนครบถ้วน ข้อสัญญาดังกล่าวข้างต้นเป็นการยกเว้นบทบัญญัติ มาตรา 372 วรรคแรก ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาย่อมตกลงกันให้เป็นอย่างอื่นได้ ข้อสัญญานั้นจึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม มาตรา 114
เมื่อจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระราคารถยนต์ให้โจทก์แม้รถนั้นจะสูญหายไปแต่จำเลยมิได้ชำระ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว จึงเป็นผลให้สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขฉบับพิพาทสิ้นสุดลง คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม มาตรา 391 จำเลยต้องคืนรถให้โจทก์ และโจทก์ต้องคืนเงินค่ารถที่ได้รับไว้แล้วพร้อมดอกเบี้ยให้จำเลย แต่ปรากฏว่ารถยนต์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาสูญหายเพราะถูกลักไปยังไม่ได้คืนจำเลยไม่สามารถส่งรถยนต์คืนให้โจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระราคารถให้แทน โดยชำระเฉพาะส่วนที่ยังส่งไม่ครบพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกสัญญา ตามมาตรา 224
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขกับโจทก์โดยซื้อรถยนต์ในราคา ๙๒,๖๗๐ บาท ชำระเงินวันทำสัญญา ๑๒,๐๐๐ บาท ที่เหลือชำระเป็นงวด ๆ งวดละ ๒,๖๘๙ รวม ๓๐ งวด จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันในฐานะลูกหนี้ร่วม จำเลยชำระเงินงวดให้โจทก์เพียง ๔ งวดแล้วไม่ชำระอีก ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่ค้าง ๖๙,๙๓๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่ารถยนต์ที่พิพาทถูกขโมยไป โจทก์ได้รับเงินจากบริษัทประกันภัยแล้ว จึงไม่ถูกโต้แย้งสิทธิไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายว่าด้วยการเช่าซื้อ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระราคารถยนต์ที่ค้างอยู่ ๖๙,๙๑๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีนับแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๑ จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จากข้อความตามหนังสือสัญญาเห็นได้ว่าเป็นสัญญาซื้อขายรถยนต์โดยผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อผ่อนชำระราคามีเงื่อนไขว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อผู้ซื้อผ่อนชำระราคาครบถ้วนแล้ว ไม่มีข้อความตอนใดแสดงให้เห็นว่าผู้ขายเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๒ ทั้งในกรณีผิดนัดผิดสัญญา หรือทรัพย์ตามสัญญาสูญหายก็ยังให้สิทธิผู้ขายได้รับชำระค่ารถส่วนที่ยังค้างชำระเต็มราคาค่ารถที่ซื้อขายตามสัญญาข้อ ๔, ๕, ๙, ๑๐, ๑๑ และ ๑๒ แสดงให้เห็นว่า กรณีจะเป็นประการใดก็ตาม คู่สัญญามีเจตนาให้ผู้ขายได้รับชำระราคารถยนต์ที่ซื้อขายจนครบถ้วนเท่านั้น หาได้มีข้อตกลงที่พอจะแสดงให้เห็นว่าถ้าผู้ซื้อผิดนัดผิดสัญญา ให้ผู้ขายริบบรรดาเงินที่ผู้ซื้อได้ใช้มาแล้ว และผู้ขายเข้าครองรถยนต์เป็นของตนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๗๔ แต่อย่างใดไม่ สัญญาเอกสารหมาย จ.๒ และ ล.๑ จึงเป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๙ หาใช่สัญญาเช่าซื้อไม่การที่ผู้ขายกำหนดเงื่อนไขการรักษาการใช้ และการเอาประกันภัยรถยนต์ในระหว่างผ่อนใช้ราคาไม่ครบถ้วนตามสัญญาข้อ ๖ และ ๗ ก็ดี ให้ผู้ซื้อต้องมีผู้ค้ำประกันในการปฏิบัติตามสัญญาก็ดี ก็เป็นเพียงการสงวนทรัพย์สินและแสวงหาหลักประกันของผู้ขายเพื่อให้ได้รับชำระราคาครบถ้วนแน่นอนยิ่งขึ้นเท่านั้น หาเป็นเหตุให้กลับกลายเป็นสัญญาเช่าซื้อไปได้ไม่ฎีกาจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากโจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขเอกสารหมาย จ.๒ และ ล.๑ แล้ว ๖ เดือน รถยนต์คันที่ซื้อขายกันก็ถูกลักไปจนบัดนี้ยังไม่ได้รถยนต์คันดังกล่าวกลับคืนมา จึงมีปัญหาว่าจำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดชำระราคารถยนต์ที่ยังเหลือหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว หนังสือสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขเอกสารหมาย จ.๒ และ ล.๑ ข้อ ๔ ระบุว่า ‘แม้ว่าสัญญาฉบับนี้จะผ่านการโอน การต่ออายุหรือการเปลี่ยนมืออย่างใด ๆ หรือตัวยานยนต์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาต้องประสบความสูญเสียเสียหายหรือย่อยยับประการใด ผู้ซื้อก็หาหลุดพ้นจากหน้าที่รับผิดตามสัญญาฉบับนี้แต่อย่างใดไม่ ฯลฯ’ ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่ายานยนต์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาต้องประสบความสูญเสียตามสัญญาข้อนี้ มีความหมายรวมตลอดถึงยานยนต์สูญหายไป เพราะเหตุถูกคนร้ายลักไปด้วย ฉะนั้นเมื่อระหว่างที่จำเลยชำระเงินค่าซื้อรถยนต์ตามสัญญายังไม่ครบถ้วน รถยนต์ดังกล่าวได้หายไปหรือเสียหายด้วยประการใด ๆ ก็ตาม จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการยกเว้นบทบัญญัติมาตรา ๓๗๒ วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า ‘นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อนถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่’ บทบัญญัติดังกล่าวนี้มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาย่อมตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ สัญญาข้อ ๔ แห่งเอกสารหมาย จ.๒ และ ล.๑ จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๔ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๒ ว่า น้องชายจำเลยขับรถยนต์คันที่ซื้อขายกันไปรับจ้างแล้วสูญหายไปตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๑ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์ตามสัญญาข้อ ๔ เมื่อจำเลยมิได้ชำระตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม ๒๕๒๑ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองตั้งแต่วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๑ ตามเอกสารหมาย จ.๓ จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้วตามเอกสารหมาย จ.๔ และ จ.๕ จึงเป็นผลให้สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขเอกสารหมาย จ.๒ และ ล.๑ สิ้นสุดลง คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ จำเลยที่ ๑ ต้องคืนรถยนต์ให้โจทก์ และโจทก์ต้องคืนเงินค่ารถที่ได้รับไว้แล้วพร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยที่ ๑ แต่ปรากฏว่ารถยนต์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาสูญหายเพราะถูกลักไปยังไม่ได้คืน จำเลยที่ ๑ ไม่สามารถส่งรถยนต์คืนให้โจทก์ได้ จำเลยที่ ๑ จึงต้องชำระราคารถให้แทน โดยชำระเฉพาะส่วนที่ยังส่งไม่ครบพร้อมด้วยดอกเบี้ย แต่ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีตั้งแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น ยังไม่ชอบ เพราะหลังจากเลิกสัญญากันแล้ว เงื่อนไขข้อตกลงต่างๆ ในสัญญาย่อมระงับสิ้นไป จะนำมาใช้บังคับแก่กันต่อไปไม่ได้ จำเลยทั้งสองจึงไม่จำต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีตามสัญญาข้อ ๕ วรรคสองอีกต่อไป จะต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ มาใช้บังคับแทน โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกสัญญาไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีนับแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๑ ถึงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๑ หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์