แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า อ. ทำกลฉ้อฉลหลอกลวงขายที่ดินให้โจทก์ โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่เต็มตามโฉนด โจทก์หลงเชื่อจึงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวกับ อ. ภายหลังโจทก์รังวัดที่ดินดังกล่าวได้เนื้อที่ไม่เต็มตามโฉนด โดยบางส่วนถูกตัดเป็นถนนโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่ อ. ขอเรียกมัดจำคืนและเรียกค่าเสียหาย ประเด็นมีว่าการซื้อขายที่ดินดังกล่าวเกิดจากการหลอกลวงของ อ. หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์สำคัญผิดในจำนวนที่ดินซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมสัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
อ.ถูกโจทก์ฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาฉ้อโกง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีอยู่ระหว่างอายุอุทธรณ์ อ. ถึงแก่กรรม โจทก์จึงฟ้องทายาทและผู้จัดการมรดก อ. เป็นจำเลยคดีแพ่งว่า อ.ทำกลฉ้อฉลหลอกลวงขายที่ดินให้โจทก์เรียกเงินมัดจำคืนและเรียกค่าเสียหาย แม้คดีอาญาข้อหาฉ้อโกงจะต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แต่โจทก์อาจอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย หรืออาจได้รับการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คดีอาญาระงับไปก่อนคดีถึงที่สุด. ดังนั้นจะนำข้อเท็จจริงในคดีอาญามารับฟังในคดีแพ่งไม่ได้ ต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๒ และโจทก์ที่ ๓ เป็นกรรมการของโจทก์ที่ ๑ เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๑ นายอุทัย เสมรสุต ได้เสนอขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๕๖๘ ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ ๕ ไร่ ๑ งาน ๘๑ ตารางวา ให้แก่ผู้เริ่มก่อการตั้งโจทก์ที่ ๑ กับโจทก์ที่ ๒ และโจทก์ที่ ๓ โดยนายอุทัยทำกลฉ้อฉลหลอกลวงว่า ที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่เต็มตามโฉนด ผู้เริ่มก่อการตั้งโจทก์ที่ ๑ กับโจทก์ที่ ๒ และโจทก์ที่ ๓ หลงเชื่อ จึงตกลงซื้อเป็นเงิน ๘๒๕,๐๐๐ บาท และทำสัญญาจะซื้อขายกันเมื่อวันที่๑๔ มิถุนายน ๒๕๒๑ วางเงินมัดจำไว้เป็นเงิน ๓๒๕,๐๐๐ บาท ราคาที่ดินส่วนที่เหลือชำระไว้เป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้า ต่อมาเดือนสิงหาคม ๒๕๒๑ ผู้เริ่มก่อการตั้งโจทก์ที่ ๑ ได้ทำการรังวัดที่ดินดังกล่าว ปรากฏว่ามีเนื้อที่เพียง ๓ ไร่เศษ ส่วนอีก ๒ ไร่เศษถูกตัดเป็นถนน ที่ดินจึงไม่พอแก่การตั้งโรงงานของโจทก์ที่ ๑ จึงต้องเสียเวลาหาซื้อที่ดินแปลงใหม่วัสดุก่อสร้างโรงงานราคาสูงกว่าเดิม ต้องขาดประโยชน์ที่ควรได้ที่ต้องประกอบธุรกิจล่าช้าเป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ทั้งสามได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายแก่นายอุทัย ต่อมาวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๓ นายอุทัยถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรมและไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกจำเลยทั้งสองในฐานะบุตรและทายาทโดยธรรมของนายอุทัยต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ให้การว่า การที่นายอุทัยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าว ไม่ได้ทำกลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ เพราะก่อนทำสัญญา โจทก์ที่ ๒ และโจทก์ที่ ๓ ได้ตรวจดูโฉนดและรูปจำลองแผนที่หลังโฉนดแล้ว และได้ตรวจดูสภาพอาณาบริเวณที่ดินด้วย นายอุทัยไม่เคยบอกโจทก์ที่ ๒ และโจทก์ที่ ๓ ว่าที่ดินมีเนื้อที่สร้างโรงงานได้เต็มเนื้อที่ โจทก์ไม่ชำระราคาที่ดินที่เหลือ จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ฟ้องเคลือบคลุม โจทก์เคยฟ้องนายอุทัยต่อศาลแขวงพระนครเหนือข้อหาฉ้อโกง ศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์ที่ ๑ ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะที่ประชุมตั้งโจทก์ที่ ๑ มิได้เสนอและลงมติให้โจทก์ที่ ๑ รับเอาสัญญาจะซื้อขายฉบับนี้
นางจำเนียร เสมรสุต ผู้จัดการมรดกของนายอุทัย ขอเข้าเป็นจำเลยร่วม โดยขอถือเอาคำให้การของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เป็นของจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์ที่ ๑ มีอำนาจฟ้องนายอุทัยไม่ได้ทำกลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ แต่โจทก์สำคัญผิดในจำนวนที่ดิน ซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม สัญญาจะซื้อขายจึงเป็นโมฆะ นายอุทัยต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์แต่โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย พิพากษาให้จำเลยทั้งสามในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของนายอุทัยชำระเงินจำนวน ๓๒๕,๐๐๐ บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายอุทัยไม่ได้ทำกลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินมัดจำคืน ฟ้องโจทก์ไม่ได้ตั้งประเด็นว่า โจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาจะซื้อขายเป็นโมฆะ นายอุทัยต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ จึงนอกฟ้องนอกประเด็น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินมัดจำและค่าเสียหาย พิพากษากลับยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับนายอุทัยเป็นโมฆะ เพราะโจทก์สำคัญผิดในจำนวนที่ดินซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวปรากฏว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ ๓ ประเด็น คือ ๑. การจะซื้อขายที่ดินเกิดจากการหลอกลวงของนายอุทัยหรือไม่ ๒. โจทก์จะเรียกมัดจำคืนและค่าเสียหายได้เพียงใด และ ๓. ฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นไม่ถูกต้องจะเห็นว่าศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่าสัญญาจะซื้อขายเป็นโมฆะเพราะเหตุโจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมหรือไม่ ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้ เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๔๖๙๖/๒๕๒๓ ที่ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษายกฟ้องโดยพยานหลักฐานฟังไม่ได้ว่านายอุทัย มีเจตนาหลอกลวงขายที่ดินโจทก์นายอุทัยตายในระหว่างอายุอุทธรณ์คดีดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงคดีนี้ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีอาญาดังกล่าวชอบหรือไม่ เห็นว่าคดีอาญาดังกล่าวศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษายกฟ้อง แม้จะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๒๒ ที่แก้ไขแล้ว แต่โจทก์ก็อาจอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายได้ หรืออาจได้รับการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ตามมาตรา ๒๒ ทวิ ถ้าหากมีการอุทธรณ์ดังกล่าวอาจทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเปลี่ยนแปลงไปได้ เมื่อนายอุทัยตายระหว่างอายุอุทธรณ์ย่อมทำให้คดีระงับไปทั้งเรื่องก่อนคดีถึงที่สุด ทำให้โจทก์หมดสิทธิอุทธรณ์ ดังนั้นจะนำข้อเท็จจริงในคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดมารับฟังในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นย่อมไม่ได้เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงใหม่
พิพากษายืน.