แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยจะใช้ระเบียบใดบังคับในองค์การของจำเลยเป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่ข้อกฎหมายที่ศาลรู้เอง
เมื่อโจทก์ยอมรับว่า ขณะโจทก์พ้นจากตำแหน่ง จำเลยมีระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2502 ใช้บังคับ ศาลจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความยอมรับ กันดังนั้น การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ระเบียบดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วโดยข้อบังคับซึ่งจำเลยกำหนดขึ้นใหม่ จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นมาอุทธรณ์โดยมิได้ว่ากันมาแล้วในศาลแรงงาน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การที่โจทก์พ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุเป็นการออกจากงานไปตามผลของพระราชบัญญัติกำหนดเกษียณอายุของผู้ทำงานในองค์การของรัฐฯ และถือว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน อย่างไรก็ตามจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์แล้ว โดยแยกเป็นค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ ซึ่งเป็นการจ่ายตามระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๐๒ ข้อ ๔.๕ตามเอกสารท้ายคำให้การ โดยถือว่าค่าชดเชยเกลื่อนกลืนอยู่กับเงินบำเหน็จแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอีก ขอให้ยกฟ้องโจทก์
วันนัดพิจารณา โจทก์แถลงรับว่าคำสั่งและระเบียบตามเอกสารท้ายคำให้การ เป็นคำสั่งและระเบียบที่จำเลยใช้บังคับในขณะที่โจทก์พ้นจากตำแหน่ง และโจทก์ได้รับเงินตามคำให้การจากจำเลยไปแล้วซึ่งเป็นเงินที่จ่ายตามระเบียบดังกล่าว
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๐๒ ข้อ ๕ กำหนดให้ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับทั้งค่าชดเชยไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ แต่ถ้าค่าชดเชยมีจำนวนต่ำกว่า ก็ให้จ่ายเงินบำเหน็จเท่ากับส่วนที่ต่ำกว่า ดังนั้น การที่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จซึ่งมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชย ย่อมถือว่าค่าชดเชยรวมอยู่กับเงินบำเหน็จ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยอีก พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า แม้เงินบำเหน็จกับค่าชดเชยจะเป็นคนละประเภทกันก็ตาม แต่ตามระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๐๒ ซึ่งใช้บังคับขณะโจทก์พ้นจากตำแหน่ง ได้วางเงื่อนไขในการจ่ายเงินบำเหน็จไว้ในข้อ ๕ วรรคท้าย ซึ่งกำหนดให้ลูกจ้างประจำมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ แต่ถ้าเงินชดเชยนั้นมีจำนวนต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่พึงจะได้รับเท่าใด ก็ให้จ่ายบำเหน็จให้เท่ากับส่วนที่ต่ำกว่า ระเบียบดังกล่าวไม่ใช้กำหนดให้งดจ่ายเงินซึ่งเป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้จ่ายแต่เป็นเงื่อนไขในการจ่ายเงินบำเหน็จที่ไม่ใช่เงินประเภทที่กฎหมายบังคับให้จ่ายจึงเป็นระเบียบที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับทั้งค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ และมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จสูงกว่าค่าชดเชย การที่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ ย่อมถือว่าค่าชดเชยรวมอยู่กับเงินบำเหน็จแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยอีก
ปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ความจริงแล้วระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ฉบับที่ ๑๐ ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานในองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ตามเอกสารท้ายอุทธรณ์ของโจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางนำระเบียบซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วมาวินิจฉัยย่อมเป็นการไม่ชอบ ชอบที่ศาลฎีกาจะฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารท้ายอุทธรณ์ของโจทก์นั้น เห็นว่า การที่จำเลยมีระเบียบหรือนำระเบียบใดมาใช้บังคับในองค์การของจำเลย เป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อกฎหมายที่ศาลรู้เอง เมื่อโจทก์ยอมรับในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางว่า ขณะที่โจทก์พ้นจากตำแหน่งจำเลยมีระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๐๒ ใช้บังคับในองค์การของจำเลยแล้ว ศาลจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความยอมรับกัน การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าระเบียบดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วโดยข้อบังคับซึ่งจำเลยกำหนดขึ้นใหม่ เป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นมาอุทธรณ์โดยมิได้ว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลฎีกาจะรับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์หาได้ไม่
พิพากษายืน