คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3389/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก มาตรา 40 และมาตรา 138 ที่โจทก์ฟ้องไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษปรับไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 31 มาใช้บังคับ โดยต้องปรับจำเลยทั้งสามเรียงตามรายตัวบุคคลไป จะปรับจำเลยทั้งสามรวมกันไม่ได้
(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1339/2506)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถของจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๒ ในฐานะส่วนตัว และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ ๒ ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการได้ร่วมกันนำรถยนต์โดยสารซึ่งเป็นรถที่จำเลยที่ ๓ ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางมากระทำการขนส่งคนโดยสารเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางได้ประกาศให้บริษัทขนส่ง จำกัดเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางนั้น โดยฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๐, ๑๓๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๐, ๑๓๘ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓ ปรับคนละ ๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับคนละ ๒๕,๐๐๐ บาทในกรณีที่จำเลยไม่ชำระค่าปรับ สำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ แต่ไม่เกิน ๒ ปี ส่วนที่จำเลยที่ ๓ ให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามในฐานะตัวการร่วมกันกระทำผิด เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒จึงต้องมีความผิดและต้องรับโทษตามฟ้องของโจทก์ด้วย ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๐ และมาตรา ๑๓๘ ที่โจทก์ฟ้อง ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษปรับไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๑ มาใช้บังคับกับคดีนี้โดยต้องปรับจำเลยทั้งสามเรียงตามรายตัวบุคคลไป จะปรับจำเลยทั้งสามรวมกันไม่ได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่๑๓๓๙/๒๕๐๖ ระหว่าง ผู้ว่าคดีศาลแขวงสงขลา โจทก์นายปาน พรหมเวชกับพวก จำเลย
พิพากษายืน

Share