คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะตีความเอกสารฉบับใดเพื่อให้ได้ความหมายที่ถูกต้องแท้จริงจะพิจารณาจากข้อความเพียงประโยคใดตอนใดแล้วสรุปความหมายเอาหาได้ไม่ จำต้องพิเคราะห์จากถ้อยคำทั้งหมดในเอกสารนั้นประมวลเข้าด้วยกันจึงจะสามารถทราบ ความหมายที่แท้จริงได้ โดยเฉพาะถ้อยคำที่แปลและเรียบเรียง จากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทยการใช้ถ้อยคำอาจไม่ตรงกัน แต่มีความหมายในทำนองเดียวกัน เกี่ยวกับการมอบอำนาจให้ ฟ้องคดีนี้ถ้อยคำที่เกี่ยวข้องคือ “เพื่อป้องกัน เครื่องหมายการค้าของ ข้าพเจ้าให้พ้นจากการปลอมแปลงเลียนแบบ จะโดยทางศาลแพ่งหรือกระบวนพิจารณาอาญารวมทั้ง ให้มีอำนาจที่จะกระทำการต่อสู้ในการเรียกร้องฟ้องแย้งหรือ ผู้ขอเรียกร้องที่แยกออก ประนีประนอมยอมความหรือตกลงกัน เกี่ยวกับการพิจารณาใดๆเช่นว่ามาแล้วเพื่อให้ เป็นไป ตามความมุ่งหมายที่ได้กล่าวมาแล้วให้มีอำนาจ ไปกระทำการ และปรากฏตัวเพื่อและในนามของข้าพเจ้ายัง สำนักงานรัฐบาลแห่งประเทศไทยหรือสถานที่อื่นใด หรือที่ศาลสถิตย์ยุติธรรม “ถ้อยคำ ทั้งหมดดังกล่าวที่ว่า มอบอำนาจเพื่อป้องกันเครื่องหมายการค้าให้พ้นจากการปลอมแปลง เลียนแบบโดยทางศาลแพ่ง รวมทั้งมีอำนาจต่อสู้ เรียกร้อง ฟ้องแย้งก็มีความหมายชัดแจ้งถึงว่าให้มีอำนาจฟ้องคดีแพ่งเพื่อป้องกันสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์แทนโจทก์นั่นเอง จะตีความ ว่าเพียงมีอำนาจให้ฟ้องแย้งเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่ได้
โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ” BOSS ” ใช้กับสินค้าประเภทเครื่องเขียนไว้ที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันตั้งแต่พ.ศ. 2518และบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยได้ สั่งสินค้าประเภทนี้ของโจทก์เข้ามาขายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2517 ก่อนมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 1 ปี นอกจากนี้โจทก์ยังได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในประเทศ ต่างๆ อีกหลายประเทศทั้งได้มีการโฆษณาถึงคุณภาพสินค้า สำหรับประเทศไทยทำผ่านบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย โจทก์ เป็นผู้คิด ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า ” BOSS ” ขึ้น มาใช้กับสินค้าของโจทก์ก่อนจำเลยจะผลิตสินค้าของจำเลย ประเภทเดียวกันนี้เป็นเวลาหลายปี เมื่อจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ” BOSS ” กับสินค้าจำพวกเดียวกันมีลักษณะเหมือนและคล้ายของโจทก์โดยรู้ถึงว่าสินค้าของ โจทก์ประเภทนี้มีเครื่องหมายการค้าคำว่า ” BOSS ” จำหน่าย อยู่ในประเทศไทยแล้ว แม้จำเลยจะนำเครื่องหมายการค้าคำว่า ” BOSS ” ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใน ประเทศไทยไว้ก่อน ก็หาทำให้จำเลยมีสิทธิดีกว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นไม่
ฎีกาปัญหาข้อที่จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การและไม่ เป็นประเด็นแห่งคดี จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากัน มาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า” BOSS ” ดีกว่า จำเลย จำเลยเป็นฝ่ายลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไป ลวงขาย ทำให้ผู้ซื้อสินค้าหลงผิดซื้อสินค้าจำเลยโดยเข้าใจ ผิดว่าเป็นของโจทก์ โจทก์ย่อมเป็นฝ่าย ได้รับความเสียหาย และ ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเอาได้ตามพระราชบัญญัติ เครื่องหมายการค้าพุทธศักราช2474 มาตรา 29 วรรคสองและ ศาลมีอำนาจ กำหนดให้ตามสมควรแก่พฤติการณ์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (เยอรมันตะวันตก) มีนายอ็อตโต ชวานโฮสเซอร์ เป็นกรรมการผู้จัดการ มีอำนาจทำกิจการต่าง ๆ ได้ และได้มอบอำนาจให้นายโรจน์วิทย์ เปเรร่าเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับคดีนี้ โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าจำพวกอุปกรณ์ที่ใช้ในการเขียน การวาดภาพ และการระบายสี สีชนิดต่าง ๆ ปากกาสีน้ำ ฯลฯมานานหลายสิบปี และโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันว่า “Boss” ได้โฆษณาเป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในหลายประเทศ และยื่นขอจดทะเบียนในประเทศไทยต่อกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ ต่อมาเดือนเมษายน ๒๕๒๒ โจทก์ได้รับหนังสือจากกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อ้างว่าไปเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย ซึ่งจำเลยลักลอบเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของจำเลยแล้วนำไปขอจดทะเบียนไว้ จำเลยมิได้เป็นผู้ค้นคิดประดิษฐ์ขึ้นเอง เป็นการแอบอ้างทำให้นายทะเบียนหลงเชื่อจึงรับจดทะเบียนให้จำเลย สินค้าของจำเลยคุณภาพไม่ดีเท่าของโจทก์ทำให้ผู้นิยมใช้สินค้าโจทก์หลงผิดในแหล่งกำเนิดสินค้า คิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นของโจทก์ทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยมในสินค้าโจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “Boss” ดีกว่าจำเลย ให้จำเลยขอถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ๖๒๕๒๔ ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามมิให้จำเลยขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การฟ้องแย้งว่า โจทก์จะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (เยอรมันตะวันตก) โดยมีนายอ็อตโต ชวานโฮสเซอร์ เป็นกรรมการผู้จัดการและมีอำนาจทำการแทนโจทก์จริงหรือไม่ไม่รับรอง และไม่มีการมอบอำนาจให้นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า ฟ้องคดีนี้ โจทก์ไม่เคยใช่เครื่องหมายการค้าจำพวกเครื่องเขียนด้วยอักษรโรมันว่า “Boss” ในประเทศไทยมาก่อน สินค้าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าตราห่านหรือชวาน โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์คำว่า “Boss” ใช้กับสินค้าโจทก์ไม่ว่าที่ใด และไม่ได้โฆษณาแพร่หลายทั่วโลกและในประเทศไทย จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลย จำเลยใช้เครื่องหมายการค้านี้มานานแล้ว และขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Boss” ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ จำเลยจึงมีสิทธิดีกว่าโจทก์ โจทก์ฉวยโอกาสลักลอบใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลย นายทะเบียนจึงไม่รับจดทะเบียนให้ โจทก์ไม่เสียหาย การที่โจทก์นำเครื่องหมายการค้าของจำเลยไปใช้โดยไม่สิทธิเป็นการละเมิดทำให้จำเลยเสียหายขอให้ห้ามโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า “Boss” และให้โจทก์เก็บสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้า “Boss” จากท้องตลาดให้หมด และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย
โจทก์ให้การฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นฝ่ายลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ซึ่งโจทก์ประดิษฐ์ขึ้นใช้กับสินค้าของโจทก์มานานแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิดีกว่า การกระทำของจำเลยโจทก์เป็นผู้เสียหาย จำเลยไม่เสียหาย ค่าเสียหายที่เรียกสูงเกินกว่าเหตุ ฟ้องแย้งเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “Boss”ดีกว่าจำเลย ให้จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนเลขที่ ๖๒๕๒๔ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมายจ.๘ เป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ได้หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าเอกสารดังกล่าวไม่ได้มีข้อความให้นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า มีอำนาจยื่นฟ้องคดีต่อศาล เพียงให้มีอำนาจฟ้องแย้งไม่ได้เท่านั้น เห็นว่า การที่จะตีความเอกสารฉบับใดเพื่อให้ได้ความหมายที่ถูกต้องแท้จริง จะพิจารณาจากข้อความเพียงประโยคใดตอนใดแล้วสรุปความหมายเอาดังที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่ จำต้องพิเคราะห์จากถ้อยคำทั้งหมดในเอกสารนั้นประมวลเข้าด้วยกันจึงจะสามารถทราบความหมายที่แท้จริงได้ โดยเฉพาะถ้อยคำที่แปลและเรียบเรียงจากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย การใช้ถ้อยคำอาจไม่ตรงกันแต่มีความหมายในทำนองเดียวกัน เกี่ยวกับการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามเอกสารฉบับนี้ถ้อยคำที่เกี่ยวข้องคือ “เพื่อป้องกันเครื่องหมายการค้าของข้าพเจ้าให้พ้นจากการปลอมแปลงเลียนแบบ จะโดยทางศาลแพ่งหรือกระบวนการพิจารณาอาญารวมทั้งให้มีอำนาจที่จะกระทำการต่อสู้ในการเรียกร้องฟ้องแย้งหรือผู้ขอเรียกร้องที่แยกออก ประนีประนอมยอมความหรือตกลงกันเกี่ยวกับการพิจารณาใด ๆ เช่นว่ามาแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายที่ได้กล่าวมาแล้วให้มีอำนาจไปกระทำการและปรากฏตัวเพื่อและในนามของข้าพเจ้ายังสำนักงานรัฐบาลแห่งประเทศไทยหรือสถานที่อื่นใด หรือที่ศาลสถิตย์ยุติธรรม”ถ้อยคำทั้งหมดดังกล่าวที่ว่ามอบอำนาจเพื่อป้องกันเครื่องหมายการค้าให้พ้นจากการปลอมแปลงเลียนแบบโดยทางศาลแพ่ง รวมทั้งมีอำนาจต่อสู้เรียกร้องฟ้องแย้งก็มีความหมายชัดแจ้งถึงว่าให้มีอำนาจฟ้องคดีแพ่งเพื่อป้องกันสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์แทนโจทก์นั่นเอง จะตีความหมายว่าเพียงมีอำนาจให้ฟ้องแย้งได้เพียงอย่างเดียวดังที่จำเลยฎีกาย่อมไม่ได้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่ากัน โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Boss” ใช้กับสินค้าประเภทเครื่องเขียนไว้ที่ประเทสสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘ และบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยได้สั่งสินค้าประเภทนี้ของโจทก์เข้ามาภายในประเทศตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ ก่อนมีการจทะเบียนเครื่องหมายการค้า ๑ ปี นอกจากนี้โจทก์ยังได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในประเทศต่าง ๆ อีกหลายประเทศทั้งได้มีการโฆษณาถึงคุณภาพสินค้า สำหรับประเทศไทยนำผ่านบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย เห็นได้ชัดว่าโจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า “Boss” ขึ้นมาใช้กับสินค้าของโจทก์ก่อนจำเลยจะผลิตสินค้าของจำเลยประเภทเดียวกันนี้เป็นวลาหลายปี เมื่อจำเลยใช้เครื่องหมายคำว่า “Boss” กับสินค้าจำพวกเดียวกัน มีลักษณะเหมือนและคล้ายของโจทก์โดยรู้ถึงว่าสินค้าของโจทก์ประเภทนี้มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “Boss” จำหน่ายอยู่ในประเทศไทยแล้ว การที่คิดเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อหลงผิดว่าเป็นสินค้าของโจทก์ จำเลยย่อมขายได้มากขึ้นกว่าปกติ การกระทำของจำเลยจึงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้จำเลยจะนำเครื่องหมายการค้าคำว่า “Boss” ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยไว้ก่อนโจทก์ ก็หาทำให้จำเลยมีสิทธิดีกว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นไม่
ที่จำเลยฎีกาว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ขอจดทะเบียนไว้มีลักษณะแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างเห็นได้ชัดไม่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดนั้น เห็นว่า จำเลยมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การและไม่เป็นประเด็นแห่งคดี จึงไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยเป็นฝ่ายเสียหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง เห็นว่า ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “Boss” ดีกว่าจำเลย จำเลยเป็นฝ่ายลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปลวงขาย ทำให้ผู้ซื้อสินค้าหลงผิดซื้อสินค้าจำเลยโดยเข้าใจผิดว่าเป็นของโจทก์โจทก์ย่อมเป็นฝ่ายได้รับความเสียหาย และฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเอาได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช ๒๔๗๔ มาตรา ๒๙ วรรคสองและศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามสมควรแก่พฤติการณ์ได้
พิพากษายืน

Share