คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2929/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีข้อความว่า “บริษัทฯยินดีพิจารณาให้กรรมการและอนุกรรมการบริหารสหภาพฯลาเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ โดยประธานสหภาพ ฯ ทำหนังสือยื่นต่อฝ่ายจัดการเพื่ออนุมัติเป็นคราวๆไป โดยบริษัท ฯ จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่” นั้นแสดงว่า กรณีที่กรรมการขอลาไปประกอบกิจกรรมของสหภาพ ฯ บริษัทนายจ้างมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ตามที่เห็นสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหภาพแรงงาน โจทก์ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขสภาพการจ้างหลายข้อต่อจำเลย โจทก์จำเลยสามารถตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องข้อ ๒๔ ของโจทก์ได้ จึงทำเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ว่า”บริษัทฯ ยินดีพิจารณาให้กรรมการและอนุกรรมการบริหารสหภาพฯ ลาเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ โดยประธานสหภาพฯ ทำหนังสือยื่นต่อฝ่ายจัดการเพื่ออนุมัติเป็นคราว ๆ ไป โดยบริษัทฯ จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่” หลังจากนั้นจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง กล่าวคือ เมื่อประธานสหภาพฯ มีหนังสือขอตัวกรรมการไปทำกิจกรรมของโจทก์ จำเลยก็ปฏิเสธโดยไม่อนุมัติให้กรรมการลาเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ขอศาลพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างทุกครั้งที่ประธานสหภาพ ฯ มีหนังสือขอตัวกรรมการ
จำเลยให้การว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมิได้กำหนดให้จำเลยจำต้องอนุมัติให้กรรมการลาทุกครั้ง กรณีใดที่ควรอนุมัติให้กรรมการลาหรือไม่อยู่ในอำนาจของจำเลยที่จะพิจารณาเป็นคราว ๆ ไป ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การแปลข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจะแปลให้ฝืนหรือขัดกับลายลักษณ์อักษรที่คู่กรณีทำกันไว้หาได้ไม่ ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใช้คำว่า “บริษัทฯ ยินดีพิจารณาให้” และตอนต่อไปก็ได้ใช้คำว่า “เพื่ออนุมัติเป็นคราว ๆ ไป” ย่อมแสดงว่ากรณีที่กรรมการขอลาไปประกอบกิจกรรมของโจทก์นั้น จำเลยจะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ ซึ่งการพิจารณาอนุมัติก็หมายความว่า จำเลยมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ตามที่เห็นสมควร ไม่บังคับว่าจำเลยจำต้องสั่งอนุญาตหรืออนุมัติเสมอไป และตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ไม่มีข้อความใด ๆ ที่ระบุไว้ซึ่งพอจะแปลได้ว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องอนุมัติให้กรรมการลาทุกครั้งที่ขอลา ส่วนข้อความตอนท้ายซึ่งระบุว่า “บริษัทฯ จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่” ก็ไม่ใช่ข้อกำหนดที่บังคับให้จำเลยจำต้องสั่งอนุมัติให้กรรมการลาได้ทุกครั้งโดยไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธเสียเลย เพราะคำว่า “ร่วมมือ” หมายถึง”พร้อมใจช่วยกัน” การที่จำเลยพิจารณาแล้วอนุมัติให้กรรมการลาไปทำกิจกรรมของโจทก์ได้ในบางครั้ง และไม่อนุมัติบางครั้งนั้น ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยให้สั่งอนุมัติให้กรรมการลาทุกครั้งที่ขอลาหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share