แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยและทำงานมาครบ 30 ปี ซึ่งตามระเบียบของจำเลยจะต้องถูกปลดเกษียณและทางปฏิบัติต้อง เขียนใบลาออกด้วย ดังนี้ การที่โจทก์เขียนใบลาออกในวันปลดเกษียณจึงเป็นเพียงกระทำให้สอดคล้องกับทางปฏิบัติของจำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นการลาออก แต่เป็นการออกจากงานเพราะเกษียณอายุซึ่งเป็นการเลิกจ้าง จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยทำหน้าที่แม่ครัวที่โรงพยาบาลหัวเฉียว ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๖ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุทำงานนาน ๓๐ ปี โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๑๘,๙๙๐ บาท และบำเหน็จจำนวน ๙๔,๙๕๐ บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า กิจการของจำเลยในโรงพยาบาลหัวเฉียว มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน โจทก์ได้รับเงินบำเหน็จจำนวน ๒๖,๐๓๗.๕๐ บาท ไปแล้วตามหลักเกณฑ์ของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จจากโจทก์อีก ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์อีก ๕๖,๙๑๒.๕๐ บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ลาออกในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๗ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์จะต้องถูกจำเลยให้ออกจากงานหรือปลดเกษียณตามระเบียบของจำเลยอยู่แล้ว การลาออกของโจทก์จึงไม่มีเหตุผล ต้องถือว่าโจทก์ถูกปลดเกษียณนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาข้อนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เข้าเป็นลูกจ้างของจำเลยโดยทำงานเป็นแม่ครัวในโรงพยาบาลหัวเฉียวมาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๖ ตามระเบียบของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.๔ข้อ ๑๔ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปลดเกษียณ การให้ออกจากงานและเบี้ยบำนาญ มีข้อความในข้อ ๑๔.๑ ว่า “ผู้ที่ปฏิบัติงานครบ ๓๐ ปี ให้ปลดเกษียณ” และมีข้อความในข้อ ๑๔.๔ ว่า “ผู้ถูกปลดเกษียณจะได้รับเบี้ยบำนาญเป็นจำนวนเงินเท่ากับจำนวนเงินเดือนในวันปลดเกษียณคูณด้วยอายุงาน “สำหรับลูกจ้างที่ทำงานมาครบ ๓๐ ปีแล้ว ต้องการจะทำงานต่อไปต้องยื่นเรื่องราวขอทำงานต่อก่อนครบ ๓๐ ปี และทางโรงพยาบาลหัวเฉียวจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ในทางปฏิบัติสำหรับลูกจ้างที่ประสงค์จะขอทำงานต่อไป เมื่อทำงานครบ ๓๐ ปี แล้วทางโรงพยาบาลก็ให้เขียนใบลาออกด้วย สำหรับโจทก์ตอนแรกประสงค์จะขอทำงานต่อโดยแสดงความประสงค์ด้วยวาจาต่อนางกิ่งแก้ว หัวหน้าสำนักงานผู้อำนวยการ แต่ต่อมาก็เลิกล้มความตั้งใจว่าไม่ประสงค์จะขอทำงานต่อไป นางกิ่งแก้วบอกโจทก์ว่าถ้าไม่ประสงค์จะทำงานต่อ เท่าที่ปฏิบัติมาต้องเขียนใบลาออก โจทก์จึงทำใบลาออกลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ ขอลาออกตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๗ และมีข้อความต่อไปว่า “เนื่องจากทำงานครบ ๓๐ ปี”จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่า โจทก์ทำงานมาครบ ๓๐ ปี ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๖ และโจทก์มิได้ทำเรื่องราวขอทำงานต่อไป ถึงอย่างไรโจทก์ก็จะต้องถูกปลดเกษียณอย่างแน่นอนอยู่แล้ว ตามระเบียบของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.๔ ข้อ ๑๔ การที่โจทก์ทำใบลาออกเป็นเพียงกระทำให้สอดคล้องกับทางปฏิบัติของโรงพยาบาลหัวเฉียวเท่านั้น และวันที่โจทก์ลาออกก็เป็นวันที่โจทก์ต้องถูกปลดเกษียณอยู่แล้ว จึงหาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ออกจากงานเพราะลาออกไม่ ต้องถือว่าโจทก์ต้องออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ซึ่งเป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน ๑๘,๙๙๐ บาทแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง