คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6900-6901/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยื่นคำร้องขอให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดเพิ่มเติมหลังจากที่คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดแล้วตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 39 วรรคสี่ ต้องเป็นการยื่นให้ชี้ขาดเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นที่ได้มีการเสนอเป็นข้อพิพาทโต้แย้งกันไว้ก่อนการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการจะสิ้นสุดเมื่อมีคำชี้ขาดเสร็จเด็ดขาด และประเด็นดังกล่าวคณะอนุญาโตตุลาการยังมิได้วินิจฉัยไว้ แต่คดีนี้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยเพิ่มเติมในประเด็นที่ตนมิได้โต้แย้งไว้ในคำคัดค้าน โดยยื่นคำร้องเพื่อให้วินิจฉัยเพิ่มเติมในประเด็นที่เสนอขึ้นใหม่หลังจากคณะอนุญาโตตุลาการได้ดำเนินกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการเสร็จสิ้นและมีคำชี้ขาดแล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจกระทำได้ตามกฎหมาย มิฉะนั้นจะทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการไม่มีวันสิ้นสุด ที่คณะอนุญาโตตุลาการยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่วินิจฉัยเพิ่มเติมชอบแล้ว
อุทธรณ์ข้ออื่นของผู้ร้องเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเนื้อหาแห่งคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นตามบทบัญญัติมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาคดีรวมกัน โดยให้เรียกบริษัทภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) ว่า ผู้ร้อง และให้เรียกบริษัทชีค เทรดดิ้ง จำกัด ว่า ผู้คัดค้าน ทั้งสองสำนวน
สำนวนแรกผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (2) (ข)
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และออกคำบังคับคดีเพื่อให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
สำนวนหลังผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้บังคับผู้ร้องชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 35/2546 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2546 ที่กำหนดให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านจำนวน 133,442,391 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 2 ธันวาคม 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน 133,442,391 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 2 ธันวาคม 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้านกับให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านทั้งสองสำนวน โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 100,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คงมีประเด็นโต้แย้งการเสนอข้อพิพาทของผู้คัดค้านเพียงประเด็นเดียวว่า ค่าเสียหายมีเพียงใด ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยรับฟังจากพยานหลักฐานที่คู่พิพาทนำสืบแล้วตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการลงวันที่ 29 ตุลาคม 2546 ข้อที่ผู้ร้องอ้างว่า ได้ยื่นคำร้องขอให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดเพิ่มเติมในประเด็นว่า ผู้คัดค้านทำฉ้อฉล ใช้หลักฐานเท็จและแสดงข้อความเท็จประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และผู้คัดค้านทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยทุจริตนั้น ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 39 วรรคสี่ บัญญัติว่า เว้นแต่คู่พิพาทจะตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยื่นคำร้องภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับคำชี้ขาด และเมื่อได้แจ้งให้คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งทราบแล้วให้คณะอนุญาโตตุลาการทำคำชี้ขาดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเรียกร้องที่ยังมิได้มีการวินิจฉัยไว้ในคำชี้ขาด ถ้าคณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่าคำร้องดังกล่าวมีเหตุผลสมควร ให้ทำคำชี้ขาดเพิ่มเติมให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับคำร้อง เห็นว่า คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยื่นคำร้องขอให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดเพิ่มเติมหลังจากคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดแล้วได้เฉพาะประเด็นที่ได้มีการเสนอเป็นข้อพิพาทโต้แย้งกันไว้ก่อนการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการจะสิ้นสุดลงเมื่อมีคำชี้ขาดเสร็จเด็ดขาดและประเด็นดังกล่าวคณะอนุญาโตตุลาการยังมิได้วินิจฉัยไว้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ แล้วปรากฏว่า คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยไว้ด้วยว่า ผู้ร้องพยายามนำสืบให้เห็นว่ามีการวางเพลิง แต่ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเป็นผู้วางเพลิงหรือมีส่วนรู้เห็นพอจะชี้ให้เห็นว่าเป็นความทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย ประเด็นในเรื่องผู้คัดค้านเป็นผู้ทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยทุจริตจึงเป็นประเด็นที่คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยไว้แล้ว ส่วนหลักฐานประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้คัดค้าน ซึ่งผู้ร้องอ้างว่าเป็นหลักฐานเท็จนั้น ปรากฏว่าคณะอนุญาโตตุลาการก็ได้วินิจฉัยไว้ด้วยว่า พยานทั้งสองฝ่ายไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าค่าเสียหายที่เป็นสต๊อกสินค้าตามที่ผู้ร้องโต้แย้งไว้นั้นควรจะเป็นเท่าใด และคณะอนุญาโตตุลาการก็ได้กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ตามที่คำนวณได้เป็นเงิน 22,383,547 บาท มิใช่กำหนดค่าเสียหายให้ตามที่ผู้คัดค้านแสดงหลักฐานมา แสดงให้เห็นว่าคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยถึงพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านนำมาเสนอประกอบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่เพียงใด ดังนั้น คำร้องของผู้ร้องทั้งสองฉบับที่ขอให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยเพิ่มเติมจึงเป็นคำร้องที่ขอให้วินิจฉัยในประเด็นที่คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยไปแล้ว การบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
อุทธรณ์ข้ออื่นของผู้ร้องเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานในเนื้อหาแห่งคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการโดยประสงค์จะให้ศาลวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นทั้งสิ้น ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติมาตรา 40, 43, และ 44 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่ผู้ร้องจะอ้างเป็นเหตุคัดค้านหรือขอให้ศาลทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสองสำนวนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาทั้งสองสำนวนแทนผู้คัดค้านรวม 50,000 บาท.

Share