คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2254/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สินค้าของกลางเป็นสินค้าที่โจทก์ซื้อจากตลาดในเขตเทศบาลเมืองหาดใหญ่จังหวัดสงขลา ฟังไม่ได้ว่าเป็นสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้เสียภาษีศุลกากร เจ้าหน้าที่ย่อมไม่มีอำนาจยึด จำเลยจะไม่คืนสินค้าของโจทก์ให้แก่โจทก์โดยอ้างว่าตกเป็นของแผ่นดินแล้วตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 24หาได้ไม่เพราะกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว การที่จำเลยไม่ยอมคืนสินค้าให้แก่โจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ
จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติราชการตามบังคับบัญชาของกรมศุลกากร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่ในราชการของจำเลยที่ 2 ตามปกติ จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๒๓ โจทก์ซื้อเสื้อผ้าชุดนอน ๑ โหลเสื้อยืด ๒๔ โหล ผ้าโสร่งปาเต๊ะ ๓๐ ผืน รวมราคาทั้งสิ้น ๑๓,๐๐๐ บาท จากตลาดในเขตเทศบาลเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาโดยเปิดเผย และให้บริษัทสหโรจน์ขนส่งจำกัด ส่งสินค้าดังกล่าวให้โจทก์ที่จังหวัดระยอง ต่อมาวันที่ ๑๖ เดือนเดียวกัน เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอห้วยยอด ยึดสินค้าดังกล่าวไว้อ้างว่าเป็นสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศโดยมิได้เสียภาษีศุลกากร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอห้วยยอดออกหมายเรียกโจทก์และแจ้งข้อหาให้ทราบ โจทก์แสดงหลักฐานการซื้อดังกล่าว พนักงานสอบสวนให้รอการฟังผลคดีและส่งสินค้าดังกล่าวให้จำเลยที่ ๑ เก็บรักษาไว้ ต่อมาพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องและแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงขอรับของกลางคืนจำเลยที่ ๑ แจ้งว่า จำเลยที่ ๒ สั่งให้สินค้าตกเป็นของแผ่นดินแล้ว จึงไม่ยอมคืนให้โจทก์ ขอให้บังคับ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ไม่ต้องรับผิดหรือใช้ราคาสินค้าแก่โจทก์ สินค้าตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองคืนทรัพย์ที่ยึดให้แก่โจทก์ในสภาพเดิมหากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคา ๑๗,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม๒๕๒๓ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอห้วยยอด ยึดผ้าโสร่งปาเต๊ะ ๓๐ ผืนเสื้อคอกลม ๒๔ โหล ชุดนอน ๑ โหล ราคารวม ๑๓,๐๐๐ บาท ซึ่งโจทก์ซื้อจากตลาดในเขตเทศบาลเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาแล้วให้บริษัทสหโรจน์ขนส่ง จำกัด ขนส่งสินค้าดังกล่าวให้โจทก์ที่จังหวัดระนอง โดยกล่าวหาว่าเป็นสินค้าผลิตจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้เสียภาษีศุลกากร วันที่ ๒๘ มีนาคม๒๕๒๓ สถานีตำรวจภูธรอำเภอห้วยยอดส่งสินค้าดังกล่าวให้ด่านศุลกากรกันตัง ซึ่งมีจำเลยที่ ๑ เป็นนายด่าน ต่อมาพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจังหวัดตรังสั่งไม่ฟ้อง จำเลยที่ ๑ ทำหนังสือถึงกรมศุลกากรจำเลยที่ ๒ ให้พิจารณาว่าสินค้าของโจทก์ดังกล่าวควรตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ จำเลยที่ ๒ แจ้งว่าตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๔ แล้วจึงไม่คืนให้โจทก์ จำเลยขายทอดตลาดสินค้าของโจทก์ไปหมดแล้ว ปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เรียกสินค้าดังกล่าวหรือให้ชำระราคาจากจำเลยทั้งสองได้หรือไม่เพียงใด พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเมื่อฟังไม่ได้ว่าสินค้าของโจทก์ตามฟ้องเป็นสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้เสียภาษีศุลกากร เจ้าหน้าที่ย่อมไม่มีอำนาจยึด จำเลยไม่คืนสินค้าของโจทก์ให้แก่โจทก์โดยอ้างว่าตกเป็นของแผ่นดินแล้วตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๑๖๙ มาตรา ๒๔ หาได้ไม่เพราะกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๖๗/๒๕๒๔ระหว่างบริษัทอินเตอร์คอนติเนนตัลมาร์เก็ตติ้ง จำกัด โจทก์ กรมศุลกากร จำเลยการที่จำเลยไม่ยอมคืนสินค้าให้แก่โจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ แต่สำหรับจำเลยที่ ๑นั้น เห็นว่าจำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติราชการตามบังคับบัญชาของศุลกากรจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ ๑ ได้ปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่ในราชการของจำเลยที่ ๒ ตามปกติ จำเลยที่ ๑ จึงหาจำต้องรับผิดเป็นส่วนตัวไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ร่วมรับผิดเป็นส่วนตัวกับจำเลยที่ ๒ ด้วยนั้นจึงไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีจำเลยที่ ๒ ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑

Share