คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4008/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่หนังสือพิมพ์เสนอข่าวหมิ่นประมาทโจทก์ว่า …..โจทก์ประพฤติปฏิบัติตนอย่างคนไร้ศีลธรรม ……โจทก์มีส่วนพัวพันเป็นผู้จ้างวานฆ่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มีนิสัยชอบใช้อำนาจบาตรใหญ่ ……ฯลฯ…..นั้น หาใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่ เมื่อข้อความนั้นไม่เป็นความจริง ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 และการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงนั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ แม้ผู้กล่าวหรือไขข่าวมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริงแต่หากควรรู้ได้ก็ต้องรับผิด
แม้มูลกรณีเดียวกันนี้ศาลในคดีส่วนอาญาจะได้พิพากษาให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์แล้วก็ตาม การที่ศาลในคดีส่วนแพ่งยังพิพากษาให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์อีกด้วยนั้น ก็เป็นทางแก้เพื่อให้ชื่อเสียงของโจทก์กลับคืนดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 447 หาใช่เป็นการลงโทษจำเลยสองครั้งในความผิดเดียวกันไม่แต่เมื่อจำเลยได้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์แล้ว ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะแก้ไขให้ชื่อเสียงของโจทก์กลับคืนดี จึงไม่จำเป็นที่จะต้องโฆษณาต่อไปอีก
จำเลยเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา แม้จะมิใช่เจ้าของหนังสือพิมพ์และมิได้เป็นผู้เขียนหรือมีส่วนรู้เห็นในการเขียนข้อความอันเป็นละเมิดก็ตาม จำเลยก็ต้องรับผิดชอบในข้อความหรือสิ่งอื่นใดที่ตนคัดเลือกนำลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ทั้งหมดเพราะตนเป็นผู้จัดการไขข่าวให้แพร่หลาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบรรณาธิการอำนวยการและจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบรรณาธิการเจ้าของผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ “มติชน” รายวัน ได้ร่วมกันลงโฆษณาข้อความในหนังสือพิมพ์ “มติชน” รายวัน ว่า “หนังสือพิมพ์รายวันแทบทุกฉบับได้ลงข่าวจับผู้ว่า ฯ ตราด เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว นายปัญญาเคยผ่านการสัมมนาหลักสูตรพัฒนานักบริหารซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักฝึกอบรมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ชื่อของหลักสูตรก็บอกอยู่โต้ง ๆ แล้วว่า มีความมุ่งหมายเพื่อให้นักบริหารระดับ ๗ ขึ้นไปจากกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ และรัฐวิสาหกิจ มารับเอาความรู้ใหม่ ๆ แล้วนำไปพัฒนาและปรับปรุงหน่วยงานของตนให้ดีขึ้น แต่การสัมมนาไม่ได้ช่วยดัดสันดานและนิสัยคนที่ประพฤติตนอย่างคนไร้ศีลธรรมให้กลับตัวกลับใจมีคุณธรรมได้ ถ้าพิจารณาจากข่าวดูว่านายปัญญา ฤกษ์อุไร ผู้ว่า ฯ ตราด จะต้องมีส่วนพัวพันเป็นผู้จ้างวานฆ่าผู้สื่อข่าวไทยรัฐแน่ เพราะนายปัญญามีนิสัยที่ชอบวางอำนาจบาตรใหญ่และมีอารมณ์อ่อนไหวง่าย ครั้งที่ผู้ว่า ฯ ผู้นี้เป็นเลขานุการของรุ่นในการสัมมนาพัฒนานักบริหารที่โรงแรมภูเก็ตรีซอร์ท จังหวัดภูเก็ต ท่านก็ได้ใช้อำนาจของท่านในทางที่ผิดจะทำร้ายร่างกายบริกรของโรงแรมด้วยสาเหตุที่ให้บริการไม่ทันอกทันใจท่านเท่านั้น เพราะนิสัยของนายปัญญาไม่ชอบเลิกอะไรที่เป็นนิสัยประจำตัวนี่เอง จึงทำให้เกิดคดีที่ว่านี้”ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และเป็นการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนความเป็นจริง โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากผู้อ่านหนังสือพิมพ์ กระทบกระเทือนต่อตำแหน่งหน้าที่การงานและความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการของโจทก์ จำเลยควรจะรู้โดยชัดแจ้งว่าข้อความดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริงการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย กับให้โฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายวันโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ตำแหน่งของจำเลยที่ ๑ เป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมาลอย ๆในด้านบริหารธุรการ จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง จำเลยที่ ๒ รับว่าเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “มติชน” แต่จำเลยที่ ๒ มิได้เขียนข้อความหรือมีส่วนร่วมในการเขียนข้อความดังกล่าว จำเลยที่ ๒ มิได้เป็นเจ้าของหรือดำเนินการพิมพ์หนังสือพิมพ์”มติชน” ออกจำหน่ายจำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับจริงไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท ข้อความตามฟ้องเป็นการเสนอข่าวตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยสุจริตและด้วยความเป็นธรรมตามวิชาชีพของหนังสือพิมพ์พึงกระทำ กล่าวคือ โจทก์ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลทหารในข้อหาจ้างวานฆ่าผู้อื่นซึ่งศาลสั่งประทับฟ้องแล้ว โจทก์ถูกปลดออกจากราชการจำเลยเสนอข่าวที่เป็นความจริง จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยมิได้พิสูจน์ว่าโจทก์มีนิสัยหรือความประพฤติดังข้อความตามฟ้อง คดีฟังได้ว่าข้อความนั้นไม่เป็นความจริง จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ผู้ต้องรับผิดชอบในข้อเขียนที่ลงหนังสือพิมพ์มติชน จึงไม่ต้องรับผิด ส่วนจำเลยที่ ๒เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์มติชน มีหน้าที่ตรวจสอบข้อความที่จะลงพิมพ์และรับผิดชอบในข้อเขียนที่ลงในหนังสือพิมพ์ทั้งหมด จึงต้องรับผิดชอบ พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ ๒ โฆษณาคำพิพากษาโดยย่อให้ได้เนื้อความลงในหนังสือพิมพ์รายวันโดยให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความที่ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันมติชนตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ว่า โจทก์ประพฤติปฏิบัติตนอย่างคนไร้ศีลธรรมการที่โจทก์เคยผ่านการสัมมนาหลักสูตรพัฒนานักบริหารไม่ได้ช่วยดัดสันดานและนิสัยของโจทก์ให้กลับตัวกลับใจมีคุณธรรม โจทก์มีส่วนพัวพันเป็นผู้จ้างวานฆ่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมีนิสัยชอบใช้อำนาจบาตรใหญ่ มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย และชอบใช้อำนาจในทางที่ผิด หาใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่ ถึงแม้โจทก์จะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการจ้างวานฆ่าผู้อื่น ถูกดำเนินคดีและถูกสั่งพักราชการ หนังสือพิมพ์ก็ไม่มีสิทธิอย่างใดที่จะวิพากย์วิจารณ์ว่า โจทก์เป็นผู้กระทำความผิดก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา จำเลยที่ ๒ จะอ้างความเชื่อของตนเองมาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่ เมื่อข้อความนั้นไม่เป็นความจริง การที่หนังสือพิมพ์รายวันมติชนลงพิมพ์โฆษณาต่อสาธารณชน ย่อมเป็นการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๒๓ การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงนั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อแม้ผู้กล่าวหรือไขข่าวมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้ ก็ต้องรับผิด
ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ผู้พิมพ์เป็นบุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ ผู้โฆษณาเป็นบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการผลิตสิ่งพิมพ์และจัดให้สิ่งพิมพ์นั้นแพร่หลายด้วยประการใด ๆ และบรรณาธิการเป็นบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำ ตรวจแก้คัดเลือก หรือควบคุมบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์ ดังนั้น ถึงแม้จำเลยที่ ๒ จะมิใช่เจ้าของหนังสือพิมพ์รายวันมติชน และมิได้เป็นผู้เขียนหรือมีส่วนรู้เห็นในการเขียนข้อความอันเป็นละเมิด แต่จำเลยที่ ๒ ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ก็จะต้องรับผิดชอบในข้อความหรือสิ่งอื่นใดที่ตนคัดเลือกนำลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ทั้งหมด เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดก็จะต้องรับผิด เพราะตนเป็นผู้จัดการไขข่าวให้แพร่หลายจะปัดความรับผิดหาได้ไม่
ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า ศาลล่างกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์สูงเกินไปและมูลกรณีเดียวกันนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๒ เป็นคดีอาญา ซึ่งศาลได้พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์รายวันแล้ว ไม่ชอบที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันอีก เพราะจะเป็นการลงโทษจำเลยสองครั้งในความผิดเดียวกันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ที่ศาลล่างกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ ๔๐,๐๐๐ บาทนับว่าพอสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์ได้รับความเสียหายในทางทำมาหาได้หรือไม่ ส่วนที่ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันด้วยนั้น ก็เป็นทางแก้เพื่อให้ชื่อเสียงของโจทก์กลับคืนดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๗มิใช่เป็นการลงโทษจำเลยสองครั้งในความผิดเดียวกัน แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมูลกรณีเดียวกันนี้ ศาลในคดีส่วนอาญาได้พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันแล้ว ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะแก้ไขให้ชื่อเสียงของโจทก์กลับคืนดีแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องโฆษณาต่อไปอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้โฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายวันโดยให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share