แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นของกรมการปกครองว่าจ้างให้จำเลยพิมพ์หนังสือแบบเรียนชั้นประถมสำหรับแจกเด็กนักเรียนยากจน จำเลยไม่ได้แอบอ้างว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ของคุรุสภาโจทก์ แต่ระบุว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น และระบุว่าห้ามขาย จึงไม่มีเหตุผล ที่ประชาชนจะเข้าใจผิดว่าเป็นหนังสือที่โจทก์พิมพ์ขึ้นเพื่อจำหน่าย ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิมพ์ปลอมขึ้นเพื่อจำหน่ายหากำไร ในลักษณะแข่งขันกับโจทก์
ลิขสิทธิ์ในหนังสือแบบเรียนที่จำเลยพิมพ์เป็นของกระทรวงศึกษาธิการ แม้โจทก์เป็นเจ้าของสิทธิในแบบรูปเล่ม การเรียบเรียงตัวอักษรและภาพก็ตาม แต่ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิ ประเภทนี้ เมื่อโจทก์ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้อง จำเลยว่าละเมิดต่อโจทก์ได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ‘ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังยุติได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีเดชา จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้รับจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนสำหรับแจกเด็กนักเรียนยากจน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-7 ให้กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย โดยโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นของกรมการปกครองเป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยพิมพ์ มิใช่จำเลยพิมพ์ขึ้นเพื่อจำหน่ายเอง ดังที่โจทก์ฟ้อง มีข้อความพิมพ์ไว้ที่ปกหนังสือทุกเล่มอย่างเด่นชัดว่า ‘สำหรับแจกเด็กนักเรียนยืมเรียน ห้ามขาย’ และภายในปกของเนื้อในหรือปกหลังของหนังสือทุกเล่ม ยังได้พิมพ์ข้อความเป็นคำแนะนำของกรมการปกครองไว้ด้วย 3 ข้อ ดังนี้
1. หนังสือนี้ให้เด็กนักเรียนยืมเรียน และให้ส่งคืนกับครูประจำชั้นเมื่อสิ้นปีการศึกษา
2. ให้ครูแนะนำนักเรียนให้รู้จักรักษาแบบเรียนมิให้ชำรุดก่อนเวลาอันสมควรเพื่อนักเรียนรุ่นหลังจะได้ใช้เรียนต่อไป
3. เมื่อสิ้นปีการศึกษาของแต่ละปี ให้ครูสำรวจจำนวนหนังสือที่ชำรุดหรือสูญหายให้จังหวัดทราบ เพื่อจังหวัดจะได้รวบรวมแจ้งกรมการปกครองเพื่อประกอบการพิจารณาจัดพิมพ์เสริมให้ต่อไป
นอกจากนี้ยังมีข้อความพิมพ์ไว้ที่ปกด้านหลังโดยแจ้งชัดว่า พิมพ์ที่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง ดังปรากฏหลักฐานตามบันทึกราชการของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น หมาย ล.1 ถึง ล.3 ตัวอย่างหนังสือแบบเรียนหมาย ล.5 ถึง ล.7 และหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หมาย ล.13 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบในหลักการจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงมหาดไทยจัดหาเครื่องเขียนแบบเรียนให้แก่นักเรียนที่ยากจน
ที่โจทก์ฎีกาว่า หนังสือแบบเรียนที่จำเลยพิมพ์ใช้กระดาษพิมพ์ที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่โจทก์พิมพ์ สีทีใช้พิมพ์ก็น้อยสีกว่า ทั้งไม่มีธงชาติไทย ไม่มีเพลงชาติ ไม่มีพระบรมฉายาลักษณ์ ไม่มีเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นการทำความเสียหายต่อชื่อเสียงในทางการค้าของโจทก์ และความเชื่อถือไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อโจทก์มาเป็นเวลานานหลายสิบปีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดดังที่โจทก์อ้างนั้นย่อมแสดงว่า จำเลยไม่มีเจตนาปลอม โดยเฉพาะหนังสือที่จำเลยพิมพ์ขึ้นนั้นมิได้แอบอ้างว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ของโจทก์ แต่ระบุไว้โดยแจ้งชัดว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นกรมการปกครอง และห้ามขาย จึงไม่มีเหตุผลที่ประชาชนจะเข้าใจผิดว่าเป็นหนังสือที่โจทก์พิมพ์ขึ้นเพื่อจำหน่าย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมาว่า โจทก์มิได้เสื่อมเสียชื่อเสียงประการใดจากหนังสือที่จำเลยพิมพ์ขึ้นตามคำสั่งว่าจ้างของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นการชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำละเมิดโดยพิมพ์ปลอมหนังสือแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมอบให้โจทก์จัดพิมพ์จำหน่ายแต่ผู้เดียว โดยจำเลยมีเจตนาจะให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นแบบเรียนที่โจทก์จัดพิมพ์จำหน่าย แต่ตามข้อเท็จจริงที่นำสืบทั้งสองฝ่ายกลับได้ความว่าหนังสือที่จำเลยพิมพ์นั้นมิใช่หนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อลักลอบจำหน่ายอย่างหนังสือปลอม แต่เป็นหนังสือที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยว่าจ้างจำเลยพิมพ์ขึ้นโดยแท้จริง เพื่อนำไปแจกแก่เด็กนักเรียนที่ยากจนตามมติคณะรัฐมนตรี และในหนังสือนั้นระบุไว้โดยแจ้งชัดว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง ฉะนั้นจึงถือไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาพิมพ์ปลอมขึ้นเพื่อจำหน่ายหากำไรในลักษณะแข่งขันกับโจทก์ดังที่อ้างในฟ้อง
ในปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์นั้น โจทก์เองก็ยอมรับในฟ้องว่า ลิขสิทธิ์ในหนังสือแบบเรียนที่จำเลยพิมพ์ขึ้นนี้เป็นของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการนายสุจินต์ ธรรมชาติ พยานโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่าลิขสิทธิ์ในหนังสือนี้เป็นของกระทรวงศึกษาธิการ ศาลอุทธรณ์กล่าวว่า แม้โจทก์จะไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในหนังสือที่จำเลยรับจ้างพิมพ์จากโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น และโจทก์ไม่มีสิทธิห้ามผู้อื่นพิมพ์ก็จริง แต่โจทก์ก็เป็นเจ้าของสิทธิในแบบรูปเล่ม การเรียบเรียงตัวอักษรและภาพหนังสือ การที่จำเลยพิมพ์หนังสือนั้นขึ้นโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสิทธิในรูปแบบเล่ม การเรียบเรียงตัวอักษรและภาพตามที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้างนั้น ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิประเภทนี้ นายสุจินต์พยานโจทก์เองเบิกความว่า การวางรูปเล่ม การใช้สีและภาพในหนังสือ โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ไว้ ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อโจทก์ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในหนังสือแบบเรียนที่จำเลยพิมพ์นั้นแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยว่าละเมิดต่อโจทก์ได้ นอกจากนี้จำเลยก็มิได้นำชื่อของโจทก์มาใช้หรือแอบอ้างว่าโจทก์เป็นผู้พิมพ์หนังสือนั้นแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า การที่จำเลยพิมพ์หนังสือแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อไปแจกเด็กนักเรียนยากจนตามคำสั่งว่าจ้างของโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง เป็นการละเมิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น’
พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลกับค่าทนายความ 10,000 บาท แทนจำเลยทั้งสอง