คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3969/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ธารกำนัล ” ตามพจนานุกรมฯ หมายความว่า ที่ชุมนุมชนคนจำนวนมาก จึงเป็นถ้อยคำที่รู้กันอยู่ทั่วไป
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281 มิได้บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ เพียงแต่บัญญัติว่าการกระทำความผิดตามมาตรา 276 วรรคแรก ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล เป็นความผิดอันยอมความได้ จึงมิใช่บทกำหนดการกระทำอันเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ อันจะนำมาเป็นบทลงโทษจำเลยดังนั้นเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยจำเลยกระทำต่อหน้าธารกำนัลเช่นนี้ ย่อมเป็นที่รู้ว่าจำเลยกระทำผิดในที่ชุมนุมชนหรือต่อหน้าคนจำนวนมาก และเป็นการบรรยายว่าการกระทำของจำเลยมิใช่ความผิดอันยอมความได้ จึงเป็นฟ้องที่บรรยายถึงข้อเท็จจริงแห่งการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดและรายละเอียดเกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกับพวกที่หลบหนีร่วมกันข่มขู่นางสาววันเพ็ญ แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเรานางสาววันเพ็ญซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยจนสำเร็จความใคร่หนึ่งครั้ง ทั้งนี้จำเลยกับพวกได้กระทำต่อหน้าธารกำนัล ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖, ๒๘๑ และ ๘๓
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๖, ๘๓
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องพอสมควรอันจะทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่า จำเลยกระทำผิดต่อหน้าธารกำนัล จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕๘(๕) ลงโทษจำเลยในฐานความผิดที่กระทำต่อหน้าธารกำนัลไม่ได้ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำว่า “ธารกำนัล” ที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฯ พ.ศ. ๒๕๒๕ นิยามความหมายไว้ว่า ที่ชุมนุมชน คนจำนวนมากจึงเป็นถ้อยคำที่รู้กันอยู่ทั่วไป ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๑ มิได้บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ เพียงแต่บัญญัติว่าการกระทำความผิดตามมาตรา ๒๗๖ วรรคแรก ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัลเป็นความผิดอันยอมความได้ จึงมิใช่บทกำหนดการกระทำอันเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ อันจะนำมาเป็นบทลงโทษจำเลย ดังนั้นเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยจำเลยกระทำต่อหน้าธารกำนัลเช่นนี้ ย่อมเป็นที่รู้ว่าจำเลยกระทำผิดในที่ชุมนุมชนหรือต่อหน้าคนจำนวนมาก และเป็นการบรรยายว่าการกระทำของจำเลยมิใช่ความผิดอันยอมความได้ จึงเป็นฟ้องที่บรรยายถึงข้อเท็จจริงแห่งการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด และรายละเอียดเกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕) แล้ว เมื่อจำเลยรับสารภาพศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๖ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๘๓

Share