คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3351/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย ๆ ไม่ใช่บทบัญญัติที่มีไว้เพื่อประโยชน์ในการปฏิเสธหนี้ในทุกกรณี แต่เป็นบทบัญญัติที่มีไว้ใช้ในชั้นบังคับคดีในกรณีที่มีความจำเป็นต้องบังคับคดีเท่านั้น ที่จำเลยยกมาตรา 13 ขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่จ่ายค่าชดเชยตามฟ้องโดยอ้างว่าเป็นการพ้นวิสัยที่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีจึงไม่ถูกต้อง เพราะสิทธิในการฟ้องร้องกับปัญหาในการบังคับคดีเป็นคนละเรื่องกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำเพราะเหตุเกษียณอายุ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าโจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๑๓ คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๙ การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๖ เช่น สร้าง ซื้อ เช่า ให้กู้ยืม กิจการต่าง ๆ นี้อาจมีการก่อหนี้และการชำระหนี้ ตามมาตรา ๔๓ ถ้ามีรายได้ก็ให้ตกเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หากรายได้ไม่พอแก่รายจ่ายและไม่สามารถหาเงินจากทางอื่นได้ รัฐพึงจ่ายให้ตามจำนวนที่ขาด บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยในการลงทุนประกอบการโดยปริยายว่า เมื่อมีหนี้ตามกฎหมายหรือตามข้อสัญญา การรถไฟแห่งประเทศไทยย่อมจะต้องชำระหนี้นั้น ไม่อาจแปลได้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยจะเอาประโยชน์จากบุคคลอื่นได้โดยไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ ฉะนั้นที่มาตรา ๑๓ บัญญัติว่า “ทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” จึงไม่ใช่บทบัญญัติที่มีไว้เพื่อประโยชน์ในการปฏิเสธหนี้ในทุกกรณี แต่เป็นบทบัญญัติที่มีไว้ใช้ในการบังคับคดีในกรณีที่มีความจำเป็นต้องบังคับคดีเท่านั้น ค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างในกรณีเลิกจ้าง คดีนี้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามที่กฎหมายบังคับไว้ จำเลยมิได้อุทธรณ์เลยว่าจำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ เท่ากับยอมรับว่าจำเลยมีหน้าที่เช่นนั้นตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง หากจำเลยทราบคำบังคับแล้วคำนึงถึงหน้าที่ของจำเลยตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ ดังกล่าวข้างต้นและยินยอมปฏิบัติตามคำบังคับ ก็ไม่จำต้องมีการบังคับคดี ปัญหาเรื่องทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยจะอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรือไม่ก็ไม่เกิดขึ้นดังนั้น ที่จำเลยด่วนยกบทกฎหมายดังกล่าวแล้วขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดตามฟ้องโดยอ้างว่าเป็นการพ้นวิสัยที่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีได้จึงไม่ถูกต้อง เพราะสิทธิในการฟ้องร้องกับปัญหาในการบังคับคดีเป็นคนละเรื่องกัน
พิพากษายืน

Share