คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3144/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากไม่รับก็ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาโจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างจากจำเลย ซึ่งประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีทั้งสองเนื่องจากมูลฐานเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีหลังจึงเป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานโดยโจทก์มิได้กระทำความผิด โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะเลิกจ้าง โดยให้นับอายุการทำงานติดต่อกันเสมือนหนึ่งไม่มีการเลิกจ้าง จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานแต่ไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้โจทก์ในระหว่างเลิกจ้าง ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยจ่ายเงินค่าจ้างในระหว่างเลิกจ้างพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้ทำงานให้แก่จำเลยในระหว่างเลิกจ้าง จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากจำเลยเป็นการตอบแทนการทำงาน ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างที่ถูกเลิกจ้าง แต่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายเพราะเหตุเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำและคดีไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยอ้างเหตุว่าจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หากไม่รับก็ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า คดีถึงที่สุดโดยศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะเลิกจ้างโดยให้นับอายุงานติดต่อกันเสมือนหนึ่งไม่มีการเลิกจ้าง การที่โจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้น นอกจากเป็นมูลฐานให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมแล้วยังก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าเสียหายหรือค่าจ้างที่โจทก์ควรจะได้รับในระหว่างถูกเลิกจ้างได้ สิทธิดังกล่าวมีอยู่ก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีเดิม เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีก่อนขอให้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน แต่ไม่เรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าจ้างที่ควรจะได้รับในระหว่างถูกเลิกจ้างมาในคราวเดียวกัน กลับมาฟ้องเรียกค่าจ้างในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างจากจำเลยในคดีนี้ ซึ่งประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีทั้งสองเนื่องจากมูลฐานเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา ๓๑ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยข้ออื่นอีก
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share