คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2879/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กับพวกอีก 1 คน ทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย แต่ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 กับ ห. ทำร้ายจนสลบแล้วบุคคลทั้งสองเอาเงินไป อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้จ้างจำเลยที่ 1 กับ ห. และช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำผิดโดยการเรียกผู้เสียหายให้กลับบ้านแต่โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ความผิดดังกล่าวอยู่ในส่วนลักษณะคดี จึงมีผลปรับบทลงโทษถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนีอีก ๑ คน ร่วมกันปล้นทรัพย์ของนายสมจิตร พิสัยกุล ไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคหนึ่ง วรรคสี่, ๘๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔ ขอให้คืนของกลางบางส่วนแก่ผู้เสียหาย นอกนั้นให้ริบ
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคแรก วางโทษจำคุก ๑๐ ปี จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ ๒ ให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้จำเลยที่ ๑ กึ่งหนึ่ง จำเลยที่ ๒ หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๕ ปี จำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๖ ปี ๘ เดือน คืนเงินสด ๒,๐๐๐ บาท ของกลางแก่ผู้เสียหาย และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืน ๑,๓๗๐ บาท แก่ผู้เสียหายริบเชือกของกลาง
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๒ เป็นคนร้ายรายนี้ด้วยแต่มิได้เป็นตัวการในการกระทำความผิด โดยเป็นเพียงผู้จ้างจำเลยที่ ๑ กับนายหัดและช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ ๑ กับนายหัดทำร้ายจนสลบแล้วบุคคลทั้งสองเอาเงินไป อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นผู้จ้างจำเลยที่ ๑ กับนายหัดและช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดโดยการเรียกผู้เสียหายให้กลับบ้าน แต่โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยที่ ๒ ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด คงลงโทษจำเลยที่ ๒ ได้ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ความผิดดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี จึงให้มีผลปรับบทลงโทษถึงจำเลยที่ ๑ ซึ่งมิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ ๒ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า นายเส่น อุปชัย จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔ นางนงคราญ สุนันทะนาม จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ วางโทษจำคุก ๖ ปี ๘ เดือน คำให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม คงจำคุก ๔ ปี ๕ เดือน ๑๐ วัน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share