คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2460/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นเพียงประกัน (อาวัล)สำหรับผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกันและรับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตามมาตรา 940, 967, 989
กำหนดเวลาที่ต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 เป็นเรื่องเงื่อนไขแห่งสิทธิไล่เบี้ยของผู้ทรงเช็คต่อผู้สลักหลังโอนเช็คเท่านั้น มิได้รวมถึงผู้สลักหลังเช็คในฐานะผู้รับประกันการใช้เงิน (ผู้รับอาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามเช็คนั้นด้วย
จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สลักหลังเช็ครู้เห็นยินยอมด้วยกับการที่จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายแก้วันที่สั่งจ่ายในเช็คอันเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อสำคัญในเช็คนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1007

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ สั่งจ่ายเช็คพิพาทนำมาแลกเงินสดจากโจทก์ โดยจำเลยที่ ๒ กับภรรยาจำเลยที่ ๑ ลงชื่อสลักหลัง ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้เงินตามเช็คและดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่เคยลงชื่อสลักหลังเช็คพิพาท วันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยจำเลยที่ ๒ มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย เช็คจึงเป็นอันเสียไปบังคับเอาแก่จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ และโจทก์ไม่นำเช็คที่ออกในเมืองเดียวกันไปขอรับเงินภายในกำหนด ๑ เดือน จำเลยที่ ๒ จึงหลุดพ้นความรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อฟังได้แล้วว่าจำเลยที่ ๒ สลักหลังเช็คพิพาทซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๒๑ ให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการรับประกันเพื่อการใช้เงินตามเช็คนั้น จำเลยที่ ๒ จึงต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกันและรับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตามมาตรา ๙๔๐, ๙๖๗, ๙๘๙ ในฐานะผู้รับประกันการใช้เงิน (อาวัล)สำหรับผู้สั่งจ่าย มิได้อยู่ในฐานะผู้สลักหลังทั้งปวง อันจะพึงต้องรับผิดตามมาตรา ๙๙๐ อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องเงื่อนไขแห่งการใช้สิทธิไล่เบี้ยของผู้ทรงเช็คต่อผู้สลักหลังโอนเช็คเท่านั้นหาได้รวมถึงผู้สลักหลังเช็คในฐานะเป็นผู้รับประกันการใช้เงิน (ผู้รับอาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามเช็คนั้นด้วยไม่ ซึ่งเป็นกรณีต่างกันจะนำมาปรับแก่กรณีนี้หาได้ไม่
จำเลยที่ ๒ ได้รู้เห็นยอมกับการแก้วันที่สั่งจ่ายอันเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อสำคัญในเช็คพิพาท จำเลยที่ ๒ จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อสำคัญในเช็คนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๐๗
พิพากษายืน

Share