คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1491/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างไม่มีโรคประจำตัวมาก่อน ได้ออกปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกา โดยทำการล้างหินอัดหินตามทางรถไฟซึ่งเป็นที่กลางแจ้ง ต้องก้ม ๆ เงย ๆ พอถึงเวลา 10.30 นาฬิกา อากาศร้อนอบอ้าว เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมถึงแก่ความตาย ดังนี้ เป็นการตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยตรง
การที่จำเลยซึ่งเป็นอธิบดีกรมแรงงานสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่พนักงานเงินทดแทนสั่งโดยที่นายจ้างแต่ฝ่ายเดียวอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเงินทดแทนนั้นเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร มิใช่การดำเนินกระบวนพิจารณา ของศาล จึงนำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรก ไปใช้บังคับหรือเทียบเคียงมิได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยเห็นว่าสิ่งที่พนักงานเงินทดแทนสั่งไปผิดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ก็ย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขณะที่นายผล ลูกจ้างของโจทก์ กำลังปฏิบัติงานซ่อมบำรุงทางรถไฟ โดยทำการล้างหินอัดหินตามทางรถไฟ ได้เป็นลมหน้ามืดหัวใจวายถึงแก่ความตาย พนักงานเงินทดแทนวินิจฉัยว่านายผลถึงแก่ความตายสืบเนื่องมาจากการทำงานให้แก่โจทก์ผู้เป็นนายจ้างให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนแก่ภริยาและบุตรของนายผล เดือนละ ๑,๔๒๙.๑๒ บาท มีกำหนด ๖๐ เดือน จ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพ โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลย จำเลยมีความเห็นว่านายผลลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้โจทก์ แต่เห็นว่าพนักงานเงินทดแทนกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนยังไม่ถูกต้อง เพราะมิได้นำค่าครองชีพของนายผลมาเป็นฐานคำนวณด้วย มีคำสั่งแก้คำสั่งของพนักงานเงินทดแทนเป็นว่า ให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนแก่ภริยาและบุตรของนายผล เดือนละ ๑,๖๖๙.๑๒ บาท โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะนายผลถึงแก่ความตายมิใช่เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์ และการที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนเพิ่มจากคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน เป็นคำสั่งที่เกินไปจากที่โจทก์อุทธรณ์ จำเลยไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะสั่งเช่นนั้นได้ ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลย
จำเลยให้การว่า การที่นายผลถึงแก่ความตายถือได้ว่าเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์ผู้เป็นนายจ้าง การกำหนดค่าทดแทนของพนักงานเงินทดแทนไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมอันเกิดแต่การหลงลืม จำเลยมีอำนาจแก้ไขได้เพราะไม่มีกฎหมายห้าม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นายผลได้รับอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากทำงานให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง โจทก์จึงมีหน้าที่จ่ายเงินทดแทน จำเลยมีอำนาจที่จะมีคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนโดยยืนตามหรือแก้ไขคำสั่งเงินทดแทนได้เมื่อเห็นว่าคำสั่งเงินทดแทนนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แม้ว่าจะไม่มีผู้ใดอุทธรณ์ในข้อพนักงานเงินทดแทนสั่งผิดพลาด คำสั่งของจำเลยชอบแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า นายผลไม่มีโรคประจำตัวมาก่อนวันที่ถึงแก่ความตายนายผลออกปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา ๖ นาฬิกา โดยทำการล้างหินอัดหินตามทางรถไฟซึ่งเป็นที่กลางแจ้ง ต้องก้ม ๆ เงย ๆ พอถึงเวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกา อากาศร้อนอบอ้าว นายผลก็เกิดอาการหน้ามืดถึงแก่ความตาย เห็นว่า นายผลทำงานในหน้าที่และเป็นลมถึงตายในขณะที่ทำงานอยู่ เป็นการตายเนื่องจากทำงานให้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างโดยตรง ถือได้ว่า “ประสบอันตราย” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒ แล้ว
การที่จำเลยทำคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่พนักงานเงินทดแทนสั่งนั้น เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร มิใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล จะนำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ วรรคแรก ไปใช้บังคับหรือเทียงเคียงปรับสำหรับการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารมิได้ เพราะการดำเนินการต่างกัน ทั้งไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้จำเลยนำมาตรา ๑๔๒ วรรคแรกไปใช้โดยอนุโลมกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน มุ่งประสงค์ที่ยังความเป็นธรรมให้เกิดทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง เมื่อความปรากฏว่า สิ่งใดผิดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจำเลยก็ย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขให้ถูกต้องได้ โจทก์จะถือว่าโจทก์ถูกกระทบกระเทือนสิทธิ และฝ่ายทายาทของนายผลสละสิทธิหาได้ไม่ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๖๐ ให้อำนาจแก่จำเลยที่จะพิจารณาอุทธรณ์และมีคำสั่งไว้อย่างกว้าง ๆ หามีข้อจำกัดอำนาจไว้ประการใดไม่ ดังนั้น สิ่งใดที่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่กรณีนี้ จำเลยย่อมมีอำนาจกระทำได้
พิพากษายืน

Share