คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1055/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามเช็ค จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา เดิมจำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้คดี แต่ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 3 แถลงสละข้อต่อสู้ทั้งหมด รับว่าฟ้องโจทก์เป็นความจริง ขอให้โจทก์บังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ก่อน หากไม่มีทรัพย์หรือมีไม่พอก็ให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 โจทก์แถลงไม่ขัดข้อง ดังนี้ จึงเท่ากับเป็นการตกลงในเรื่องการบังคับคดีไว้ล่วงหน้าก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้จำเลยที่ 3 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม แต่ถ้าจะต้องมีการบังคับคดี โจทก์ก็ผูกพันที่จะต้องบังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ก่อนตามข้อตกลง และชอบที่ศาลชั้นต้นจะทำการไต่สวนให้ปรากฏเสียก่อนว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีทรัพย์สินที่โจทก์สามารถจะบังคับเอาชำระหนี้ได้หรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามเช็คซึ่งจำเลยที่ ๑ นำมาขายลดให้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ ๓ เดิมให้การต่อสู้คดี แต่ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ ๓ แถลงสละข้อต่อสู้ทั้งหมด รับว่าฟ้องโจทก์เป็นความจริง ขอให้โจทก์บังคับคดีแก่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ก่อน หากไม่มีทรัพย์หรือมีไม่พอก็ให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ ๓ โจทก์แถลงไม่ขัดข้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
ต่อมาจำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องว่า โจทก์มิได้ปฏิบัติตามข้อตกลง กล่าวคือผู้แทนโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๓ ขอให้ศาลยกคำบังคับคดีจำเลยที่ ๓ และถอนการยึด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๓ จะต้องบอกให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีทรัพย์สินอะไร อยู่ที่ไหน เพื่อที่โจทก์จะได้นำยึดได้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ ได้ปฏิบัติดังกล่าว จึงให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๓
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้พิเคราะห์คำแถลงของจำเลยที่ ๓ และโจทก์ในรายงานกระบวนพิจารณาแล้ว เห็นว่า ทั้งโจทก์และจำเลยที่ ๓ มีเจตนาตกลงกันในเรื่องการบังคับคดีว่า ถ้าจะต้องมีการบังคับคดีโจทก์จะบังคับเอาแก่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ก่อนเพราะมิฉะนั้นแล้วเหตุไฉนจำเลยที่ ๓ จึงจะยอมสละข้อต่อสู้ จึงเท่ากับเป็นการตกลงในเรื่องการบังคับคดีไว้ล่วงหน้าก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษานั่นเอง ดังนั้นแม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้จำเลยที่ ๓ รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม แต่ถ้าจะต้องมีการบังคับคดีโจทก์ก็ผูกพันที่จะต้องบังคับเอาแก่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ก่อนตามข้อตกลง
อย่างไรก็ดีการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ ๓ เพียงเหตุที่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ บอกแก่โจทก์ว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีทรัพย์อะไร อยู่ที่ไหนและศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ถอนการยึดทรัพย์จำเลยที่ ๓ เสียทีเดียวโดยที่ยังมิได้มีการไต่สวนว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีทรัพย์สินที่โจทก์สามารถจะบังคับเอาก่อนที่จะบังคับเอาแก่จำเลยที่ ๓ ได้หรือไม่นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ชอบที่ศาลชั้นต้นจะทำการไต่สวนให้ปรากฏเสียก่อนว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีทรัพย์สินที่โจทก์สามารถจะบังคับเอาชำระหนี้ได้ก่อนหรือไม่
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นส่งสำเนาคำร้องของจำเลยที่ ๓ ให้คู่ความอื่น และทำการไต่สวนให้ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีทรัพย์สินที่โจทก์จะบังคับได้ก่อนหรือไม่ แล้วจึงมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share