คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 941/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันนัดสืบพยานจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน โจทก์ไม่มาศาล ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ขาดนัดพิจารณาแล้วดำเนินการสืบพยานจำเลยได้ 3 ปาก จำเลยขอเลื่อนคดีก่อนถึงวันนัดสืบพยานจำเลยครั้งต่อไป โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่อ้างว่ามิได้จงใจขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ดังนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการสั่งโดยปกติในระหว่างการพิจารณา จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย โดยอ้างว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปปลูกมันสำปะหลังและพืชไร่ในที่ดินของโจทก์ และได้แจ้งให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องจะเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่จำเลยครอบครองอยู่หรือไม่ ไม่รับรอง ถ้าเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน การออกตราจองก็เป็นการออกทับที่ของจำเลยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สุจริต และจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานแล้วให้จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบก่อน
ในวันสืบพยานจำเลยครั้งแรก โจทก์ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ขาดนัดพิจารณา แล้วสืบพยานจำเลยไปฝ่ายเดียว ในระหว่างนัดสืบพยานจำเลยโจทก์ยื่นคำร้องว่ามิได้จงใจขาดนัด ขอให้ศาลไต่สวนคำร้องและคำสั่งพิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า สำเนาให้จำเลยเหตุผลตามคำร้องถือว่าการขาดนัดเป็นไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงไม่จำต้องไต่สวน ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์มิได้จงใจขาดนัดพิจารณา เนื่องจากทนายโจทก์จำวันนัดสืบพยานจำเลยผิดไป ศาลชั้นต้นได้สั่งคำร้องของโจทก์ว่า เหตุผลตามคำร้อง การขาดนัดเป็นไปโดยเหตุอันไม่สมควรจึงไม่จำต้องไต่สวน ให้ยกคำร้อง คำสั่งเช่นนี้เป็นการสั่งโดยปกติในระหว่างการพิจารณาของศาลก่อนที่จะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี และมิใช่เป็นคำสั่งชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔ ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกา คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาและไม่เข้ากรณีที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๒๗ และ ๒๒๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณา ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share