คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2999/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า “เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2524 เวลากลางวัน จำเลยได้บังอาจขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ช.ม. 20-1034 วิ่งรับส่งคนโดยสารเพื่อสินจ้างประจำทางสายเวียงป่าเป้า – ดอยนางแก้ว อันเป็นการประกอบการขนส่งประจำทางโดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ฯลฯ” นั้น เป็นการบรรยายถึงองค์ประกอบความผิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก ฯ มาตรา 23 แล้วจึงเป็นฟ้องที่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๒๔ เวลากลางวัน จำเลยได้บังอาจขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ช.ม.๒๐-๑๐๓๔ วิ่งรับส่งคนโดยสารเพื่อสินจ้างประจำทางสายเวียงป่าเป้า-ดอยนางแก้ว อันเป็นการประกอบการขนส่งประจำทางโดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และในเส้นทางสายดังกล่าวมีบริษัทไทยพัฒนกิจขนส่งจำกัดเป็นผู้มีสิทธิและได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกให้ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสาร บนเส้นทางหมวด ๓ สายที่ ๑๖๖ จากจังหวัดเชียงใหม่ถึงเชียงราย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๓, ๑๒๖
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำคุก ๒ ปี ปรับ ๓๐,๐๐๐ บาทลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก ๑ ปี ปรับ ๑๕,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด ๒ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำคุก ๒ ปี ปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก ๑ ปี ปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด ๒ ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า “เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๒๔ เวลากลางวัน จำเลยนี้ได้บังอาจขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ช.ม.๒๐-๑๐๓๔ วิ่งรับส่งคนโดยสารเพื่อสินจ้าง ประจำทางสายเวียงป่าเป้า-ดอยนางแก้ว อันเป็นการประกอบการขนส่งประจำทางโดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ฯลฯ” จึงเป็นการบรรยายถึงองค์ประกอบแห่งความผิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๓ ที่โจทก์ขอให้ลงโทษนั้นครบถ้วนแล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี โดยจะเห็นได้ว่าเมื่อศาลอ่านคำฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยก็ได้ยื่นคำให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์นั้นทุกประการ ฟ้องโจทก์จึงชอบตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕)
พิพากษายืน

Share