แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การบรรจุ แต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งพนักงานรัฐวิสาหกิจ ย่อมมุ่งหมายให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนที่แน่นอนชัดเจนเมื่อข้อบังคับการสื่อสารแห่งประเทศไทยกำหนดให้การขึ้นบัญชีและการยกเลิกบัญชีผู้สอบคัดเลือกเป็นไปตามที่ผู้ว่าการกำหนด และผู้ว่าการได้วางระเบียบไว้แล้วว่าบัญชีผู้สอบคัดเลือกได้ให้ใช้ได้จนกว่าจะมีการสอบคัดเลือกใหม่และประกาศผลแล้ว ดังนั้น การยกเลิกบัญชีผู้สอบคัดเลือกได้ทุกคราวต้องเป็นไปตามระเบียบที่วางไว้ ย่อมไม่ใช่ความมุ่งหมายของข้อบังคับและระเบียบดังกล่าวที่จะให้ผู้ว่าการมากำหนดวิธียกเลิกบัญชีเฉพาะการสอบคราวใดคราวหนึ่งให้ผิดแผกไปจากระเบียบที่วางไว้และยังใช้บังคับอยู่ ฉะนั้นผู้ว่าการจึงไม่มีอำนาจที่จะกำหนดว่าบัญชีผลการสอบคัดเลือกครั้งพิพาทใช้ได้มีกำหนด 2 ปีนับแต่วันประกาศผลการสอบคัดเลือก
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ และข้อบังคับที่เกิดขึ้นจากการแจ้งข้อเรียกร้องต่างก็เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา 20 แห่งกฎหมายดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงสิทธิหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานที่มีอยู่เดิมย่อมเป็นการทำสัญญาจ้างแรงงานตามบทบัญญัตินี้ด้วย เมื่อความผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานที่มีอยู่เดิมผลการสอบคัดเลือกให้ใช้ได้จนกว่าจะมีการสอบใหม่และประกาศผลแล้ว แต่ข้อกำหนดที่ออกภายหลังตามประกาศผลการสอบคัดเลือกครั้งพิพาทระบุว่าผลการสอบใช้ได้เพียง2 ปีจึงไม่เป็นคุณแก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 20 จึงใช้บังคับไม่ได้ชอบที่ศาลจะเพิกถอนเสียตามที่โจทก์ขอ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งนิติกรระดับ ๕ เดิมจำเลยออกระเบียบฉบับที่ ๒๔/๒๕๒๐ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเลื่อนพนักงานให้ดำรงตำแหน่งให้สูงขึ้นว่าบัญชีผู้สอบคัดเลือกได้ให้ใช้จนกว่าจะมีการสอบคัดเลือกอย่างเดียวกันนั้นอีก และได้ประกาศผลการสอบครั้งใหม่แล้ว ต่อมาเมื่อโจทก์สอบคัดเลือกเป็นนิติกรระดับ ๖ ได้ จำเลยกลับออกประกาศใหม่ในท้ายผลการสอบคัดเลือกว่า บัญชีผลการสอบคัดเลือกให้ใช้ได้มีกำหนด ๒ ปี นับแต่วันประกาศผลการสอบเป็นต้นไป ทำให้โจทก์หมดโอกาสที่จะได้รับบรรจุเป็นนิติกรระดับ ๖ และเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบเดิมโดยขัดต่อมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ ขอให้ศาลเพิกถอนประกาศหรือระเบียบฉบับหลัง และให้จำเลยแต่งตั้งโจทก์ดำรงค์ตำแหน่งนิติกรระดับ ๖
จำเลยให้การว่า ระเบียบฉบับที่ ๒๔/๒๕๒๐ เป็นระเบียบทั่ว ๆ ไป ผู้ว่าการจำเลยมีอำนาจตามข้อบังคับการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๓ ว่าด้วยการบรรจุ แต่งตั้งฯพ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งออกตามความในมาตรา ๑๓ และมาตรา ๒๙(๕) แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทยฯ ที่จะออกคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ การเลื่อนตำแหน่งไม่อยู่ในความหมายของ “สภาพการจ้าง” ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา ๕และขณะยื่นคำให้การกองนิติการของจำเลยไม่มีตำแหน่งนิติกรระดับ ๖ ว่างจึงไม่สามารถเลื่อนตำแหน่งโจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ การบรรจุแต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่งพนักงานย่อมมุ่งหมายให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนที่แน่นอนชัดเจน เมื่อข้อบังคับการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๓ ข้อ ๑๘ วรรคสาม กำหนดให้การขึ้นบัญชีและการยกเลิกบัญชีผู้สอบคัดเลือกเป็นไปตามที่ผู้ว่าการกำหนด และผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้อาศัยข้อบังคับดังกล่าววางระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๒๔/๒๕๒๐ ไว้แล้วว่า บัญชีผู้สอบคัดเลือกได้ให้ใช้ได้จนกว่าจะมีการสอบคัดเลือกอย่างเดียวกันนั้นอีก และได้ประกาศผลการสอบคัดเลือกในตำแหน่งใหม่นั้นแล้ว ดังนี้การยกเลิกบัญชีผู้สอบคัดเลือกในการสอบทุกคราวก็ต้องเป็นไปตามระเบียบที่วางไว้ ย่อมมิใช่ความมุ่งหมายของข้อบังคับและระเบียบดังกล่าวที่จะให้ผู้ว่าการของจำเลยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับการสื่อสารแห่งประเทศไทยฉบับที่ ๓ มากำหนดวิธียกเลิกบัญชีเฉพาะการสอบคัดเลือกคราวใดคราวหนึ่งให้ผิดแผกไปจากระเบียบที่วางไว้แล้วและยังใช้บังคับอยู่อีก ฉะนั้นการที่ผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้ประกาศผลการสอบคัดเลือก ฉบับลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๒๑ แล้วกำหนดว่า บัญชีผลการสอบคัดเลือกครั้งนี้ให้ใช้ได้มีกำหนด ๒ ปีนับแต่วันประกาศผลการสอบคัดเลือก ข้อกำหนดนั้นจึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทยฉบับที่ ๒๔/๒๕๒๐ และไม่มีอำนาจที่จะกำหนดได้
ส่วนปัญหาที่ว่าข้อกำหนดตามประกาศผลการสอบคัดเลือกดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๐ หรือไม่เห็นว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่ว่าจะเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๐ ให้ถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือชนิดที่เกิดขึ้นจากการแจ้งข้อเรียกร้อง ก็เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา ๒๐ อันนายจ้างต้องห้ามมิให้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น เว้นแต่จะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าเช่นเดียวกัน และการเปลี่ยนแปลงสิทธิหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานที่มีอยู่แต่เดิมย่อมเป็นการทำสัญญาจ้างแรงงานตามบทบัญญัตินี้ด้วย (ดังนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๖/๒๕๒๒) เมื่อความผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานที่มีอยู่เดิมตามระเบียบของจำเลยฉบับที่ ๒๔/๒๕๒๐ ผลการสอบคัดเลือกให้ใช้ได้จนกว่าจะมีการสอบคัดเลือกใหม่และประกาศผลการสอบแล้ว แต่ตามข้อกำหนดที่ออกในภายหลังตามประกาศผลการสอบคัดเลือกของจำเลยลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๒๑ ผลการสอบคัดเลือกคงใช้ได้เพียง ๒ ปี และปรากฏว่าหากประกาศผลการสอบของจำเลยไม่กำหนดระยะเวลาไว้ ในวันฟ้องคดีนี้โจทก์ก็ยังมีสิทธิเลื่อนเป็นพนักงานช่วยบริหารระดับ ๓หรือนิติกร ๖ ได้ ข้อกำหนดตามประกาศผลการสอบคัดเลือกของจำเลยจึงไม่เป็นคุณแก่โจทก์ เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา ๒๐ จึงใช้บังคับไม่ได้ชอบที่จะเพิกถอนเสียตามที่โจทก์ขอ ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอย่างไรก็ดี ได้ความว่าอัตรานิติกร ๖ ยังไม่ว่าง จึงไม่อาจบังคับตามคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยแต่งตั้งโจทก์ดำรงตำแหน่งนิติกร ๖ ได้
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนข้อกำหนดตามประกาศการสื่อสารแห่งประเทศไทยเรื่องผลการสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนตำแหน่งพนักงานขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพนักงานช่วยบริหารระดับ ๓ หรือเทียบเท่า สังกัดกองนิติการ ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๒๑เฉพาะข้อความที่ว่า “บัญชีผลการสอบคัดเลือกครั้งนี้ให้ใช้ได้มีกำหนด ๒ ปี นับตั้งแต่วันประกาศผลการสอบคัดเลือกเป็นต้นไป” เสีย