คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 902/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความรับผิดในอันที่จะต้องเสียค่าภาษีสำหรับรถยนต์ที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำเข้าสำเร็จ และการคำนวณภาษีต้องถือตามสภาพรถยนต์ ราคารถยนต์ และพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่โจทก์นำรถยนต์เข้ามาในประเทศไทย
ราคารถยนต์ที่จะคำนวณภาษี ต้องถือตามราคาขายส่งเงินสดไม่รวมค่าอากร ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าโดยไม่หักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด
รถยนต์ที่โจทก์ซื้อมาเป็นรถยนต์ซึ่งผู้สั่งซื้อไว้ไม่ยอมซื้อ บริษัทผู้ขายจึงลดราคาให้เป็นพิเศษ จึงแสดงว่าราคารถยนต์ที่โจทก์ซื้อมามิใช่ราคาตามปกติ ย่อมจะถือเป็นราคารถยนต์ที่นำเข้าเพื่อคำนวณภาษีหาได้ไม่เพราะมิใช่ราคาขายส่งซึ่งจะพึงขาย ณ เวลาและที่ที่นำเข้าโดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคา เมื่อราคาที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่ำไปเจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินราคาใหม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์สั่งซื้อรถยนต์นั่งยี่ห้อคาดิแลค รุ่นปี พ.ศ. ๒๕๒๐ จำนวน ๔ คัน โดยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยเพื่อเสียภาษีอากรแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ ๑ สั่งให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มอีก ๒๗๗,๗๕๗.๑๙ บาท โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ มีมติยืนตามการประเมินดังกล่าว โจทก์เห็นว่าการประเมินและการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตั้งหลักเกณฑ์การประเมินเอาเอง และไม่ได้ประเมินตามราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ขอให้เพิกถอนการประเมินและผลการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า ราคารถยนต์ที่โจทก์สำแดงไว้ไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด หรือราคาตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ เพราะเป็นราคาซื้อขายที่มีส่วนลดการประเมินราคาของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยที่ ๒ ชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ เพราะมิได้คิดคำนวณภาษีจากราคาสินค้าอันแท้จริงในท้องตลาดหรือราคาแห่งของนั้น ราคารถยนต์ที่โจทก์สั่งซื้อเข้ามาเป็นราคาอันแท้จริงเมื่อบวกด้วยค่าระวางขนส่งและค่าประกันภัยจึงเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ซึ่งจะต้องนำมาคำนวณภาษีอากร
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๑๐ ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๙ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๕ บัญญัติว่า “ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้า เกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ
ภายใต้บังคับมาตรา ๘๗ และมาตรา ๘๘ การคำนวณค่าภาษีให้ถือตามสภาพของ ราคาของ และพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีเกิดขึ้น … ฯลฯ” และมาตรา ๒ บัญญัติว่า “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือราคาแห่งของอย่างใดนั้น หมายความว่าราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้ โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าหรือส่งออกแล้วแต่กรณี โดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่าความรับผิดของโจทก์ในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับรถยนต์ที่นำเข้า เกิดขึ้นในเวลาที่นำเข้าสำเร็จและการคำนวณภาษีต้องถือตามสภาพรถยนต์ราคารถยนต์และพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่โจทก์นำรถยนต์เข้ามาในประเทศไทย ส่วนราคารถยนต์ที่จะคำนวณภาษี ก็ต้องถือตามราคาขายส่งเงินสดไม่รวมค่าอากร ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าโดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาแต่อย่างใด ดังนั้น ราคารถยนต์ที่โจทก์ซื้อมาแม้จะบวกด้วยค่าระวางขนส่งและค่าประกันภัยแล้วก็อาจจะไม่ใช่ราคารถยนต์ที่จะคำนวณภาษีเสมอไป โดยเฉพาะคดีนี้โจทก์เองก็นำสืบรับว่า รถยนต์ที่โจทก์ซื้อมานั้นเป็นรถยนต์ซึ่งผู้สั่งซื้อไว้ไม่ยอมซื้อ บริษัทผู้ขายจึงลดราคาให้เป็นพิเศษซึ่งแสดงว่าราคารถยนต์ที่โจทก์ซื้อมามิใช่ราคาตามปกติ ย่อมจะถือเป็นราคารถยนต์ที่นำเข้าเพื่อคำนวณภาษีหาได้ไม่ เพราะมิใช่ราคาขายส่งซึ่งจะพึงขาย ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าโดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคา เมื่อราคารถยนต์ที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่ำไป เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินราคาใหม่ได้ ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ ๑ได้ประเมินราคาใหม่ โดยถือเอาราคารถยนต์ รุ่นปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นพื้นฐานแล้วลดราคาให้ร้อยละ ๕ เพราะเป็นรถข้ามปีซึ่งถือปฏิบัติเช่นเดียวกับรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ และบี.เอ็ม.ดับบลิว.ศาลฎีกาเห็นว่า รถยนต์ที่โจทก์นำเข้ามานั้นเป็นรถยนต์ใหม่มิใช่รถใช้แล้ว แม้จะเป็นรถยนต์ตกรุ่นข้ามปี สภาพรถยนต์ก็มิได้เปลี่ยนแปลงในลักษณะสำคัญแต่อย่างใด การลดราคาให้ร้อยละ ๕ เจ้าพนักงานประเมินถือเป็นหลักปฏิบัติทั่วไป มิใช่เลือกปฏิบัติเฉพาะโจทก์ การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการปฏิบัติโดยมีหลักเกณฑ์ภายในขอบอำนาจถูกต้องตามพระราชบัญญัติศุลกากรแล้ว
พิพากษายืน

Share