คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความที่ลงหนังสือพิมพ์ในคอลัมน์ “มองมุมนอก” ของหนังสือพิมพ์รายวัน “มติชน” นอกจากระบุถึงชื่อและนามสกุลของโจทก์แล้ว ยังลงรูปโจทก์ด้วย ทั้งข้อความก็หมายถึงโจทก์เป็นส่วนใหญ่ และข้อความดังกล่าวมีความหมายว่าโจทก์ประพฤติปฏิบัติตนอย่างคนไร้ศีลธรรม การที่โจทก์ผ่านการสัมมนาหลักสูตรพัฒนานักบริหารไม่ได้ช่วยดัดสันดานและนิสัยของโจทก์ให้กลับตัวกลับใจมีคุณธรรม โจทก์มีส่วนพัวพันเป็นผู้จ้างวานฆ่านายพิชิตผู้สื่อข่าวไทยรัฐ เพราะโจทก์มีนิสัยขอบวางอำนาจมาตรใหญ่ มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย และใช้อำนาจในทางที่ผิด อำนาจฝ่ายต่ำจึงเข้าครอบงำ ถ้าประเทศมีข้าราชการระดับนักบริหารอย่างโจทก์ บ้านเมืองจะไปไม่รอด ข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความโจทก์ต่อผู้อ่านหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และถือไม่ได้ว่าเป็นการเสนอข้อความโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของหนังสือพิมพ์ที่พึงกระทำ หรือเป็นการลงข่าวตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์
บรรณาธิการ หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำ ตรวจแก้ คัดลอก หรือควบคุมบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์ ดังนั้น ในกรณีแห่งนังสือพิมพ์ บรรณาธิการที่จะต้องรับผิดเป็นตัวการ ต้องเป็นบรรณาธิการซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์เท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบรรณาธิการอำนวยการมีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร ประกอบกับจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการ เจ้าของผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของหนังสือพิมพ์รายวัน “มติชน” รับว่าเป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงโฆษณาทั้งหมดแต่ผู้เดียว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตราด จำเลยที่ ๑ เป็นบรรณาธิการอำนวยการ จำเลยที่ ๒ เป็นบรรณาธิการ เจ้าของผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ “มติชน” รายวัน สมคบกันโฆษณาด้วยเอกสารหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามในหนังสือพิมพ์ “มติชน” รายวันในคอลัมน์ “มองมุมนอก” โดยพาดหัวเรื่องว่า นายปัญญา “เลิกอะไร” พร้อมทั้งลงรูปโจทก์ในคอลัมน์ดังกล่าวด้วย และบรรยายข้อความว่า เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว นายปัญญาเคยผ่านการสัมมนาหลักสูตรพัฒนานักบริหารซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักฝึกอบรมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ชื่อของหลักสูตรก็บอกอยู่โต้แล้วว่า มีความมุ่งหมายเพื่อให้นักบริหารระดับ ๗ ขึ้นไปจากกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ และรัฐวิสาหกิจมารับเอาความรู้ใหม่ ๆ แล้วนำไปพัฒนาและปรับปรุงหน่วยงานของตนให้ดีขึ้น แต่การสัมมนาไม่ได้ช่วยดัดสันดานและนิสัยคนที่ประพฤติปฏิบัติตนอย่างคนไร้ศีลธรรมให้กลับตัวกลับใจมีคุณธรรมได้ ถ้าพิจารณาจากข่าวดูว่า นายปัญญา ฤกษ์อุไร ผู้ว่า ฯ ตราด จะต้องมีส่วนพัวพันเป็นผู้จ้างวานฆ่าผู้สื่อข่าวไทยรัฐแน่ เพราะนายปัญญามีนิสัยที่ชอบวางอำนาจบาตรใหญ่และมีอารมณ์อ่อนไหวง่าย ครั้งที่ผู้ว่าฯ ผู้นี้เป็นเลขานุการของรุ่นในการสัมมนาพัฒนานักบริหารที่โรงแรมภูเก็ตรีซอร์ท จังหวัดภูเก็ต ท่านก็ได้ใช้อำนาจของท่านในทางที่ผิด จะทำร้ายร่างกายบริกรของโรงแรม ด้วยสาเหตุที่ให้บริการไม่ทันอกทันใจท่านเท่านั้น เพราะนิสัยของนายปัญญาไม่เลิกอะไรที่เป็นนิสัยประจำตัวนี่เองจึงทำให้เกิดคดีที่ว่านี้ โดยเจตนาให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เห็นว่าโจทก์เป็นคนที่มีสันดานและนิสัยที่ชอบประพฤติปฏิบัติตนอย่างคนไร้ศีลธรรมและเป็นผู้ที่ชอบวางอำนาจบาตรใหญ่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทั้ง ๆ ที่ข้อความดังกล่าวล้วนเป็นเท็จทั้งสิ้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๒๖, ๓๒๘, ๓๓๒ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๗,๘ และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๔, ๔๘ กับให้จำเลยทั้งสองโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ “มติชน” รายวันในหน้าหลังสุด และในหนังสือพิมพ์รายวัน “ไทยรัฐ” และ “เดลินิวส์” ฉบับละ ๗ วัน โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓, ๓๒๖, ๓๒๘ ให้จำคุกคนละ ๑ เดือนและปรับคนละ ๒,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอไว้ ๒ ปี กับให้จำเลยทั้งสองโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันหน้าหลังสุด มีกำหนด ๗ วันติดต่อกัน โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ส่วนคำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความที่ลงพิมพ์ในคอลัมน์ “มองมุมนอก” นอกจากจะระบุถึงชื่อและนามสกุลของโจทก์ด้วยแล้ว ยังลงรูปโจทก์ในคอลัมน์ดังกล่าวด้วย ข้อความที่ลงพิมพ์จึงหมายถึงโจทก์เป็นส่วนใหญ่ และข้อความดังกล่าวมีความหมายว่า โจทก์ประพฤติปฏิบัติตนอย่างคนไร้ศีลธรรม การที่โจทก์ผ่านการสัมมนาหลักสูตรพัฒนานักบริหารไม่ได้ช่วยดัดสันดานและนิสัยของโจทก์ให้กลับตัวกลับใจมีคุณธรรม โจทก์มีส่วนพัวพันเป็นผู้จ้างวานฆ่านายพิชิตผู้สื่อข่าวไทยรัฐ เพราะโจทก์มีนิสัยชอบวางอำนาจบาตรใหญ่ มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย และใช้อำนาจในทางที่ผิด อำนาจฝ่ายต่ำจึงเข้าครอบงำ ถ้าประเทศมีข้าราชการระดับนักบริหารอย่างโจทก์บ้านเมืองจะไปไม่รอด ข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความโจทก์ต่อผู้อ่านหนังสือพิมพ์รายวัน “มติชน” ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการเสนอข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของหนังสือพิมพ์ที่จะพึงกระทำ หรือเป็นการลงข่าวตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ข้อความที่ลงพิมพ์ในคอลัมน์ “มองมุมนอก” จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์
พระราชบัญญัติการพิมพ์ฯ มาตรา ๔๘ วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ และถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย” และมาตรา ๔ ให้คำนิยามว่า “บรรณาธิการ” หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำ ตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุมบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการที่ต้องรับผิดเป็นตัวการต้องเป็นบรรณาธิการซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์เท่านั้น ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบว่า จำเลยที่ ๑ มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรประกอบกับจำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ และจำเลยที่ ๒ รับว่าเป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงโฆษณาทั้งหมดแต่ผู้เดียว จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะคดีที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share