แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วินัยและโทษทางวินัยเป็นรายการที่นายจ้างต้องให้มีกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ 68 ส่วนการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย แม้ไม่มีระบุไว้ในรายการของข้อ 68 แต่นายจ้างจะกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานด้วยก็ได้ เพราะรายการในข้อ 68 เป็นเพียงรายการที่กำหนดว่าอย่างน้อยต้องมีเท่านั้น และการที่นายจ้างกำหนดวินัยและโทษทางวินัยขึ้นใช้บังคับก็หาเป็นการทำให้นายจ้างลงโทษลูกจ้างโดยปลดออกจากงานแล้วไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่เพราะการที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อปลดออกจากงานนั้น ต้องพิจารณาว่าเป็นการปลดออกในกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่ระบุไว้ในประกาศดังกล่าวข้อ 47 (1) ถึง (6) หรือไม่
“ข้อเรียกร้อง” ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 31 หมายถึงข้อเรียกร้องที่สมบูรณ์ตามบทบัญญัติมาตราอื่น ๆ ด้วย เพราะมิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นช่องทางให้ลูกจ้างผู้ไม่สุจริตหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษทางวินัยได้โดยง่าย ดังนั้น เมื่อได้ความว่าสหภาพแรงงานมีสมาชิกไม่ถึงหนึ่งในห้า ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานที่ขอให้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจึงไม่สมบูรณ์เป็นข้อเรียกร้องตามมาตรา 15 แม้ข้อเรียกร้องนั้นจะผ่านการไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทจนอยู่ในระหว่างการพิจารณาชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ก็ถือไม่ได้ว่ามีข้อเรียกร้องอยู่ในระหว่างการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน และการที่โจทก์เป็นกรรมการสหภาพแรงงานและเป็นผู้แทนสหภาพแรงงานในการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับข้อเรียกร้องดังกล่าว ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง การที่นายจ้างปลดโจทก์ ออกจากงานระหว่างนั้นจึงไม่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ และเป็นกรรมการสหภาพแรงงานฯ ด้วย จำเลยที่ ๑ ปลดโจทก์ออกจากงานฐานกระทำผิดทางวินัยและข้อบังคับการทำงานของบริษัทจำเลยที่ ๑ อย่างร้ายแรง โจทก์มิได้กระทำผิดดังที่จำเลยที่ ๑ กล่าวหาและออกคำสั่งปลดโจทก์ คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งปลดลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งปลดแต่ไม่ได้รับการพิจารณาสั่งการจึงได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๙ กล่าวหาว่าจำเลยที่ ๑ กระทำการอันไม่เป็นธรรม เพราะโจทก์เป็นกรรมการสหภาพแรงงานฯ และเป็นผู้แทนเจรจาต่อรอง ในขณะที่มีการเจรจาต่อกันระหว่างนายจ้างลูกจ้างจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายจ้างปลดโจทก์ออกจากงานโดยแกล้งกล่าวหาดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๙ มีคำสั่งว่า คำสั่งของจำเลยที่ ๑ยังไม่เข้าข่ายการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา ๑๒๑ ยกคำร้องของโจทก์ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยโดยไม่ชอบ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยที่ ๑ รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามตำแหน่งหน้าที่และเงินเดือนเดิมพร้อมทั้งจ่ายเงินค่าจ้างระหว่างที่โจทก์ถูกปลดออกจากงานถึงวันสั่งให้โจทก์กลับเข้าทำงาน และค่าเสียหายเป็นรายวัน กับขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๙ และร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า คำสั่งที่จำเลยที่ ๑ ปลดโจทก์ออกจากงานฐานกระทำผิดทางวินัยและข้อบังคับการทำงานชอบด้วยกฎหมายและได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการสอบสวนแล้ว และโจทก์ก็ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ถ้ามีการวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นอย่างใดแล้วโจทก์ยังมีสิทธิที่จะฟ้องศาลได้ ฉะนั้น การที่ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ แต่โจทก์ได้ยื่นเรื่องราวต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมโจทก์จึงยังไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้เสียหายกล่าวอ้างว่าถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและยังไม่มีอำนาจนำคดีขึ้นสู่ศาล ข้อเรียกร้องที่สหภาพแรงงานซึ่งโจทก์เป็นผู้แทนเข้าเจรจาไม่ถูกต้องและไม่สมบูรณ์เพราะสหภาพแรงงานมีสมาชิกไม่ถึงหนึ่งในห้าของลูกจ้างทั้งหมด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๙ ให้การว่า เมื่อได้รับคำร้องของโจทก์แล้วก็รีบทำการสอบสวนและได้ความว่าคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานของจำเลยที่ ๑ ยังไม่ถึงที่สุด เพราะโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของจำเลยที่ ๑ ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ และยังไม่ปรากฏว่าผลของการอุทธรณ์จะเป็นประการใด โจทก์จึงยังไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะกล่าวอ้างว่าถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา ๑๒๔ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๖๘ กำหนดว่า “ให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเป็นประจำ จัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นภาษาไทยประกาศใช้บังคับ และข้อบังคับนั้นอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ (๑) ฯลฯ (๖) วินัยและโทษทางวินัย (๗) ฯลฯ” เห็นได้ว่า วินัยและโทษทางวินัยเป็นรายการที่นายจ้างต้องให้มีกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ส่วนการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยแม้ไม่มีระบุไว้ในรายการของข้อ ๖๘ ดังกล่าว แต่นายจ้างจะกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานด้วยก็ได้ เพราะรายการในข้อ ๖๘ เป็นเพียงรายการที่กำหนดว่าอย่างน้อยต้องมีเท่านั้น และแม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างที่กำหนดวินัยและโทษทางวินัยขึ้นไว้จะชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อนายจ้างปลดลูกจ้างออกจากงานเพราะทำผิดวินัยมีโทษถึงปลดออก นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ต้องพิจารณาตามข้อ ๔๗ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ หากการปลดออกนั้นมิใช่เป็นกรณีหนึ่งกรณีใดตามที่ระบุไว้ในข้อ ๔๗(๑) ถึง (๖) นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชย การที่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๑ กำหนดว่าลูกจ้างต้องรักษาวินัยตามระเบียบข้าราชการพลเรือนโดยอนุโลม และผู้ใดฝ่าฝืนจะพิจารณาลงโทษตามระเบียบข้าราชการพลเรือนโดยอนุโลม จึงชอบด้วยกฎหมาย หาตกเป็นโมฆะไม่
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา ๓๑ บัญญัติว่า “เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา ๑๓ แล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา ๑๓ ถึงมาตรา ๒๙ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง ฯลฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว (๑) ฯลฯ” เห็นว่า “ข้อเรียกร้อง” ตามบทบัญญัติมาตรา ๓๑ นี้ หมายถึงข้อเรียกร้องที่สมบูรณ์ตามบทบัญญัติมาตราอื่น ๆ ด้วย เพราะหากให้หมายรวมถึงข้อเรียกร้องที่ไม่สมบูรณ์แล้วก็จะเป็นช่องทางให้ลูกจ้างผู้ไม่สุจริตหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษทางวินัยได้โดยง่าย อันมิใช่ความประสงค์ของกฎหมาย และมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “สมาคมนายจ้างหรือสหภาพแรงงานอาจแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา ๑๓ ต่ออีกฝ่ายหนึ่งแทนนายจ้างหรือลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกได้ จำนวนสมาชิกซึ่งเป็นลูกจ้างต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของลูกจ้างทั้งหมด” คดีนี้ได้ความว่า สหภาพแรงงานฯ มีสมาชิกซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทจำเลยที่ ๑ ไม่ถึงหนึ่งในห้า ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานที่ยื่นต่อจำเลยที่ ๑ ขอให้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจึงไม่สมบูรณ์เป็นข้อเรียกร้องตามมาตรา ๑๕ ฉะนั้น แม้ข้อเรียกร้องดังกล่าวจะผ่านการไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทจนอยู่ในระหว่างการพิจารณาชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ก็ถือไม่ได้ว่ามีข้อเรียกร้องอยู่ในระหว่างการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน และการที่โจทก์เป็นกรรมการสหภาพแรงงานและเป็นผู้แทนสหภาพแรงงานในการเจรจาต่อรองกับจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับข้อเรียกร้องดังกล่าว ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง การที่จำเลยที่ ๑ ปลดโจทก์ออกจากงานจึงไม่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา ๓๑
พิพากษายืน