แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ให้เงิน 20,000 บาท ซึ่งเรียกว่าสินสอดและให้แหวนเพชรกับสร้อยทองคำซึ่งเรียกว่าของหมั้นแก่จำเลยนั้นโจทก์หาได้ให้ในฐานะเป็นสินสอดและของหมั้นไม่เพราะสินสอดหรือของหมั้นนั้นต้องเป็นการให้โดยมีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมายเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าทั้งสองฝ่ายเพียงแต่ประกอบพิธีสมรสตามประเพณี โดยไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสเพื่อให้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เงินและทรัพย์นั้น จึงหาได้ให้ในฐานะเป็นสินสอดและของหมั้นตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1437 ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ ได้สู่ขอจำเลยที่ ๒ ต่อจำเลยที่ ๑ เพื่อให้สมรสกับโจทก์ที่ ๒ จำเลยทั้งสองตกลงและเรียกสินสอดทองหมั้น แล้วต่อมาในวันประกอบพิธีสมรส โจทก์ได้มอบเงินสินสอด ๒๐,๐๐๐ บาท และของหมั้นคือแหวน ลูกประคำคอทองคำและสร้อยข้อมือแก่จำเลยทั้งสอง หลังจากเสร็จพิธีสมรสตามประเพณีแล้ว จำเลยที่ ๒ ไม่ยอมอยู่ร่วมกับโจทก์ที่ ๒ ฉันสามีภรรยา และไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ ๒ จึงขอให้จำเลยคืนเงินสินสอดกับทองของหมั้น
จำเลยให้การว่า เมื่อเสร็จพิธีสมรสแล้ว จำเลยที่ ๒ ก็ได้อยู่กินกับโจทก์ที่ ๒ ฉันสามีภรรยากันนาน ๒ สัปดาห์ แล้วโจทก์ที่ ๒ ละทิ้งจำเลยที่ ๒ ไปเอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่า โจทก์ที่ ๒ กับจำเลยที่ ๒ ไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสกัน คงมีเจตนาเพียงแต่ทำพิธีสมรสกันตามประเพณีและอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาเท่านั้น มิได้ถือเอาการจดทะเบียนเป็นสำคัญมาแต่แรก ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายแยกกันอยู่ โจทก์จึงฟ้องเรียกสินสอดและทองหมั้นคืน พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่โจทก์ให้เงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเรียกว่าสินสอดและให้แหวนเพชรกับสร้อยทองคำ ซึ่งเรียกว่าของหมั้นแก่จำเลยนั้นโจทก์หาได้ให้ในฐานะเป็นสินสอดและของหมั้นไม่เพราะสินสอดหรือของหมั้นนั้นต้องเป็นการให้โดยมีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมายเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าทั้งสองฝ่ายเพียงแต่ประกอบพิธีสมรสหาได้มีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนสมรสเพื่อให้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่การประกอบพิธีดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายเหตุดังกล่าวเงินและทรัพย์ที่โจทก์อ้างว่ามอบให้แก่ฝ่ายหญิงจึงหาได้ให้ในฐานะสินสอดและของหมั้นตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา ๑๔๓๗ ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืน
พิพากษายืน