คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1182/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่ระบุว่า ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างต่อผู้รับจ้างได้โดยการแจ้งบอกเลิกสัญญาล่วงหน้า 3 เดือน ไปยังผู้รับจ้างมีความหมายว่าจำเลยจะบอกเลิกสัญญาเพื่อให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยพลันไม่ได้ ต้องให้เวลาโจทก์เตรียมตัวไม่น้อยกว่า 3 เดือน เพื่อหยุดการก่อสร้าง หยุดการจัดหาสัมภาระในการก่อสร้าง เตรียมรื้อถอนโรงเรือนและวัสดุอุปกรณ์และเลิกจ้างคนงานตลอดจนคำนวณค่าจ้างและค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น มิใช่ว่าโจทก์จำเลยยังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งสัญญากันโดยโจทก์ต้องก่อสร้างและจำเลยต้องชำระเงินตามกำหนดกันอีกถึง 3 เดือน ทั้ง ๆ ที่สัญญาต้องเลิกกันอยู่แล้ว จึงต้องถือว่าสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเลิกกันตั้งแต่วันที่แจ้งบอกเลิกสัญญา
สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้วโดยจำเลยเป็นผู้บอกเลิกสัญญาอาศัยสิทธิในฐานะผู้ว่าจ้างและโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญากรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 605 ที่จำเลยจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นสำหรับเงินค่าเตรียมการก่อสร้าง เมื่อสัญญาเลิกกันแล้วก็ไม่ต้องเตรียมการก่อสร้างต่อไปอีก ส่วนเงินค่าก่อสร้างทาวน์เฮาส์ 3 หลังโจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโดยถือว่าสัญญายังไม่เลิกกันจึงไม่มีประเด็นเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายของโจทก์อันเกิดแต่การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 605 และโจทก์ย่อมไม่อาจนำสืบถึงความเสียหายของโจทก์ดังกล่าวได้เนื่องจากเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2538 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างทาวน์เฮาส์รวม 236 หลัง ราคา 208,500,000 บาท และตกลงจ่ายค่าเตรียมงานจำนวน 20,850,000 บาท แก่โจทก์ โดยแบ่งจ่ายเป็น 4 งวด งวดแรกเดือนตุลาคม 2538 จำนวน 5,000,000 บาท งวดที่ 2 วันที่ 10 มกราคม 2539จำนวน 5,000,000 บาท งวดที่ 3 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 จำนวน 5,000,000บาท และงวดที่ 4 วันที่ 30 มีนาคม 2539 จำนวน 5,850,000 บาท นอกจากนี้จำเลยตกลงจะจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์เป็นงวดรายเดือนตามผลงาน โดยโจทก์จะต้องส่งหลักฐานการขอรับเงินค่าจ้างในแต่ละงวดให้แก่ผู้บริหารและควบคุมงานก่อสร้างพิจารณาภายในสิ้นเดือนและจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 15 วันนับแต่ได้รับหลักฐานการขอรับเงินค่าจ้าง ในกรณีที่เห็นสมควรจ่ายค่าจ้าง จำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างภายใน 30 วัน นับแต่วันพิจารณาเสร็จ โจทก์เริ่มลงมือก่อสร้างตามสัญญาในเดือนตุลาคม 2538 และจำเลยชำระเงินค่าเตรียมงานงวดแรกแก่โจทก์แล้ว โจทก์ได้ใช้จ่ายเงินค่าเตรียมงานเป็นค่าก่อสร้างที่พักคนงาน ขอมิเตอร์ไฟฟ้า น้ำประปา จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ค่าแรงคนงาน และอื่น ๆ โจทก์ก่อสร้างทาวน์เฮาส์จำนวน 3 หลัง เสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2538 คิดเป็นค่าจ้างตามผลงานจำนวน 4,787,444.86 บาท และแจ้งผลงานให้จำเลยพิจารณาเพื่อจ่ายเงินค่าจ้าง ซึ่งจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างจำนวนดังกล่าวภายในวันที่15 กุมภาพันธ์ 2539 แต่จำเลยเพิกเฉย คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 98,372.15 บาท และเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2539 จำเลยมิได้ชำระค่าเตรียมงานจำนวน 5,000,000 บาท แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน9,885,816.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน9,787,444.86 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ทำงานส่วนแรกไม่แล้วเสร็จตามกำหนดในสัญญาจำเลยจึงไม่จ่ายค่าเตรียมงานงวดที่ 2 แก่โจทก์งานชำรุดบกพร่องมีมูลค่าไม่ถึงจำนวน 4,787,446.86 บาท โจทก์ไม่ได้ก่อสร้างที่พักคนงาน หรือจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ หรือขอมิเตอร์ไฟฟ้า น้ำประปา หรือจ่ายค่าแรงคนงาน เงินค่าเตรียมงานงวดแรกจำนวน 5,000,000 บาท ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างซึ่งเกินกว่ามูลค่าของงานแล้ว จำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2539 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2538 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างทาวน์เฮาส์ 236 หลัง ในราคา 208,500,000 บาท ตกลงจ่ายค่าเตรียมงาน20,850,000 บาท แก่โจทก์ โดยแบ่งจ่ายเป็น 4 งวด งวดแรกในเดือนตุลาคม2538 เป็นเงิน 5,000,000 บาท งวดที่ 2 วันที่ 10 มกราคม 2539 เป็นเงิน5,000,000 บาท งวดที่ 3 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นเงิน 5,000,000 บาทและงวดที่ 4 วันที่ 30 มีนาคม 2539 เป็นเงิน 5,850,000 บาท เงินค่าเตรียมงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.3 โจทก์ทำงานส่วนแรกโดยก่อสร้างทาวน์เฮาส์เป็นบ้านตัวอย่าง 3 หลัง เสร็จแล้ว คิดเป็นค่าจ้างตามผลงานเป็นเงิน 4,787,444.86 บาท โจทก์ส่งมอบงานให้แก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้างและไม่ชำระค่าเตรียมงานงวดที่ 2แก่โจทก์ในวันที่ 10 มกราคม 2539 โจทก์จึงหยุดทำงานตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์2539

พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 เลิกกันแล้วหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้เห็นว่า จำเลยให้การว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2539 แต่จำเลยมิได้นำสืบพยานหลักฐานตามที่ให้การไว้ เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลย อย่างไรก็ตาม ในชั้นสืบพยานโจทก์นายประเวทย์ พัฒนสุพงษ์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการของโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ก่อนบอกเลิกสัญญามีการตอกเสาเข็มในโครงการประมาณร้อยละ 70 ของจำนวนที่รับจ้างก่อสร้างทั้งหมด อันเป็นการยอมรับตามข้อต่อสู้ของจำเลยแล้วว่ามีการบอกเลิกสัญญากันแล้วจริง การที่โจทก์หยุดทำงานตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2539 จึงเจือสมคำให้การจำเลยที่ว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2539 อีกด้วย หากโจทก์เห็นว่าคำเบิกความของนายประเวทย์มิได้มีความหมายถึงการบอกเลิกสัญญาจริงจังหรือนายประเวทย์มิใช่ผู้แทนหรือตัวแทนของโจทก์ที่จะรับทราบการบอกเลิกสัญญาจากจำเลย โจทก์ก็น่าจะถามติงให้นายประเวทย์เบิกความอธิบายได้แต่โจทก์กลับมิได้ทำเช่นนั้น การบอกเลิกสัญญาในกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างแก่โจทก์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2539 ส่วนที่สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.3 หมวดที่ 10ข้อ 10.1 ระบุว่า “ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างฉบับนี้ต่อผู้รับจ้างได้โดยการแจ้งบอกเลิกสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างล่วงหน้า 3 เดือน ไปยังผู้รับจ้าง” นั้น มีความหมายว่าจำเลยจะบอกเลิกสัญญาเพื่อให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยพลันไม่ได้ ต้องให้เวลาโจทก์เตรียมตัวไม่น้อยกว่า 3 เดือน เพื่อหยุดการก่อสร้าง หยุดการจัดหาสัมภาระในการก่อสร้าง เตรียมรื้อถอนโรงเรือนและวัสดุอุปกรณ์และเลิกจ้างคนงานตลอดจนคำนวณค่าจ้างและค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น มิใช่ว่าโจทก์จำเลยยังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งสัญญากันต่อไป กล่าวคือโจทก์ต้องก่อสร้างและจำเลยต้องชำระเงินตามกำหนดกันอีกถึง 3 เดือน ทั้ง ๆ ที่สัญญาต้องเลิกกันอยู่แล้วดังที่โจทก์อ้างในฎีกาต้องถือว่าสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2539 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาตามฎีกาของโจทก์อีกข้อหนึ่งมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินตามฟ้องให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด ในปัญหาข้อนี้เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้วโดยจำเลยเป็นผู้บอกเลิกสัญญาโดยอาศัยสิทธิในฐานะผู้ว่าจ้าง และโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญากรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 605 ที่จำเลยจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์2 จำนวน คือ เงินค่าเตรียมการก่อสร้างในงวดที่ 2 จำนวนเงิน 5,000,000 บาทและค่าก่อสร้างทาวน์เฮาส์ 3 หลัง เป็นเงิน 4,787,444.86 บาท สำหรับเงินค่าเตรียมการก่อสร้าง เมื่อสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเลิกกันแล้วก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเตรียมการก่อสร้างต่อไปอีก ส่วนเงินค่าก่อสร้างทาวน์เฮาส์ 3 หลังศาลล่างทั้งสองเห็นว่าคุ้มกับค่าเตรียมการก่อสร้างงวดที่ 1 ที่โจทก์ได้รับไปแล้วแต่ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโดยถือว่าสัญญายังไม่เลิกกัน คำฟ้องจึงไม่มีประเด็นเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายของโจทก์อันเกิดแต่การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 605 และโจทก์ย่อมไม่อาจนำสืบถึงความเสียหายของโจทก์ดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตำหนิว่าโจทก์ไม่นำสืบรายละเอียดของความเสียหายและถือว่าค่าเตรียมงานงวดแรกคุ้มกับจำนวนหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์จึงไม่ถูกต้อง เงินค่าก่อสร้างทาวน์เฮาส์ 3 หลัง และเงินค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องสูญเสียไปเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาของจำเลย ตลอดจนค่าเสียหายอื่น ๆ ล้วนเป็นค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์พึงได้รับจากจำเลยเพราะเหตุที่จำเลยบอกเลิกสัญญาทั้งสิ้น เมื่อคดีนี้ไม่มีประเด็นและคู่ความก็มิได้นำสืบกันมาศาลจะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยเอาเองโดยไม่มีข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานสนับสนุนย่อมเป็นการไม่ชอบ และมีเหตุสมควรให้โอกาสโจทก์ไปฟ้องเป็นคดีใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาคงเห็นพ้องด้วยในผล”

พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามนัยดังกล่าวข้างต้นภายในกำหนดอายุความ

Share