คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3005/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องบริษัทประกันภัยจำเลยที่ 4 ให้รับผิดตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ฟ้องในฐานะเป็นนายจ้างจำเลยที่1 ฉะนั้นที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดีโดยตรงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 จำเลย ที่ 4 จะยกขึ้นเป็นประเด็นต่อสู้แทนจำเลยที่ 3 หาได้ไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มีใบอนุญาตประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่งที่หมดอายุการอนุญาต จะถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่งหาได้ไม่เพราะว่าเพียงแต่จำเลยที่ 1 ขาดต่อใบอนุญาตยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับขี่รถโดยไม่มีใบอนุญาตหรือเคยได้รับใบอนุญาตแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมาย
ข้อความในสัญญากรมธรรม์ประกันภัยมีว่า จำเลยที่ 4 จำกัดความรับผิดไม่เกิน 50,000 บาทต่อหนึ่งคน ไม่เกิน 50,000 บาทต่อหนึ่งครั้งนั้น ต้องหมายความว่าแม้มีผู้เสียหายหลายคนในครั้งเดียวกัน ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 4 ต้องจ่ายก็คงไม่เกินวงเงิน 50,000 บาท ผู้มีสิทธิได้รับค่าเสียหายก็ต้องแบ่งเฉลี่ยกันตามส่วนของความเสียหายที่ได้รับนั้น

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถโดยประมาทชนรถจักรยานยนต์ที่สามีโจทก์ขับ และโจทก์นั่งซ้อนท้ายเป็นเหตุให้สามีโจทก์ตายและโจทก์บาดเจ็บสาหัส โดยจำเลยที่ ๑ ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยที่ ๔ เป็นผู้รับประกันภัยรถคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ ๑ ขับทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้ง ๔ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ โดยก่อนเกิดเหตุหนึ่งวัน จำเลยที่ ๑ ขับรถคันเกิดเหตุไปนอนค้างกับเพื่อนที่ดอนเมือง รุ่งขึ้นจำเลยที่ ๑ ขับรถคันดังกล่าวมาชนกับรถโจทก์จึงเป็นการกระทำนอกเหนือไปจากทางการที่จ้าง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ เหตุเกิดเพราะความประมาทของผู้ตาย
จำเลยที่ ๔ ให้การปฏิเสธความรับผิดทำนองเดียวกันกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้ง ๔ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์โดยให้จำเลยที่ ๔ ร่วมรับผิดในวงเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๔ ฎีกาว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ขับรถโดยประมาทนั้น เห็นว่าฝ่ายโจทก์มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยที่ ๑ ขับรถโดยประมาท และจำเลยที่ ๑ ถูกดำเนินคดีอาญา ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ คดีถึงที่สุด ดังนี้จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยจะฎีกาว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ขับรถโดยประมาท โดยไม่ได้นำสืบหักล้างไว้ในชั้นสืบพยานจึงฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาอีกว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๔ รับผิดตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัย ไม่ได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ ฉะนั้นฎีกาของจำเลยที่ ๔ เกี่ยวกับข้อนี้จึงไม่ได้เป็นประเด็นโดยตรงแห่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๔ จะหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นต่อสู้แทนจำเลยที่ ๓ หาได้ไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ ๔ ฎีกาอีกข้อหนึ่งปฏิเสธความรับผิดอ้างว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ มีใบอนุญาตประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่งที่หมดอายุการอนุญาตให้ใช้ได้แล้วจึงถือว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับอนุญาตประจำเครื่องขนส่งโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นการขัดต่อเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเพียงแต่จำเลยที่ ๑ ขาดต่อใบอนุญาตยังไม่ถือว่าจำเลยที่ ๑ ขับขี่รถโดยไม่มีใบอนุญาตหรือเคยได้รับใบอนุญาตแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมาย ตามที่ระบุเป็นเงื่อนไขไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ ๔ ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ ๔ ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ในกรมธรรม์ประกันภัยได้จำกัดความรับผิดไว้ว่า บริษัทประกันภัยจำกัดความรับผิดเป็นเงินไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาทต่อหนึ่งคนไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาทต่อหนึ่งครั้ง การที่ศาลล่างให้จำเลยที่ ๔ รับผิดในความตายของสามีโจทก์ ๕๐,๐๐๐ บาท และที่โจทก์บาดเจ็บอีก ๕๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท จึงขัดกับเงื่อนไขดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารสัญญาประกันภัยรายการ ๔ จำนวนเงินจำกัดความรับผิดตามสัญญา ข้อ ๒.๑ บรรทัดแรก ๕๐,๐๐๐ บาทต่อหนึ่งคน บรรทัดถัดลงมา ๕๐,๐๐๐ บาทต่อหนึ่งครั้ง รวมทั้งได้พิจารณาถึงเบี้ยประกันภัยในรายการที่ ๖ ซึ่งผู้เอาประกันภัยชำระให้จำเลยที่ ๔ อันเป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยแล้วเห็นว่า แม้ในสัญญาจะระบุจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ ๔ ในกรณีก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือตายของบุคคลภายนอกไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาทต่อหนึ่งคน ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อก่อให้เกิดการเสียหายแก่บุคคลภายนอกหลายคนแล้ว จำเลยที่ ๔ จะต้องรับผิดในค่าเสียหายแก่ทุกคนในวงเงินคนละไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท เพราะตามสัญญาข้อ ๒.๑ ในบรรทัดถัดลงมาได้จำกัดความเสียหายในวงเงินไว้ ๕๐,๐๐๐ บาทต่อหนึ่งครั้ง ซึ่งหมายความว่าถ้าหากเกิดอุบัติเหตุก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกหลายคนด้วยกัน ทุกคนมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๔ ในวงเงินไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท โดยแบ่งเฉลี่ยกันตามส่วนของความเสียหายที่ได้รับฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ ๔ ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๔ ร่วมรับผิดเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share