คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2648/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำไปในทางการที่จ้างจึงถือไม่ได้ว่าเหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.ฟ-๒๓๑๗ ของนายจุล จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฟ.-๙๒๖๕ และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ขับรถของจำเลยที่ ๒ คันดังกล่าวไปตามทางการที่จ้างด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฟ ๒๓๑๗ ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้จ่ายค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้แก่นายจุลไปแล้ว จึงขอสวมสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยทั้งสาม พร้อมทั้งดอกเบี้ย
ระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง โจทก์ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนโจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การต่อสู้คดีหลายประการ
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า เหตุที่เกิดเป็นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ จึงหลุดพ้นความรับผิดตามสัญญาประกันภัย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และจำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่าเหตุที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๘๗๙ วรรคแรก นั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจะต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นลูกจ้างกระทำไปในทางการที่จ้าง โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลผู้ต้องเสียหายจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๘๗ จำเลยที่ ๓ จะไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในกรณีที่จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดชอบเท่านั้นทั้งความวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ จึงถือไม่ได้ว่าเหตุได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ ๒ ผู้เอาประกันภัยกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา ๘๗๙ วรรคแรก
พิพากษายืน

Share