คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2547/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กำหนดเวลา 1 ปีตามมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 หมายถึงระยะเวลาที่ให้นำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2497 มาใช้บังคับไปพลางก่อนในระหว่างที่ ก.พ. ยังมิได้กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ส่วนมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2518 บัญญัติถึงเมื่อ ก.พ. ได้กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนตามมาตรา 32 แล้ว หากข้าราชการพลเรือนผู้ใดมีกรณีกระทำผิดวินัยหรือกรณีที่สมควรให้ออกจากราชการก่อนวันที่ ก.พ. กำหนดตำแหน่งก็ให้ผู้บังคับบัญชาการดำเนินการเพื่อสั่งลงโทษผู้นั้น หรือสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ดังนั้น เมื่อกรณีการกระทำที่โจทก์ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงโทษทางวินัยได้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2517 ก่อนที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 ใช้บังคับ แม้โจทก์จะไปให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2519 ภายหลังที่โจทก์ได้รับราชการกำหนดตำแหน่งตามมาตรา 32 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขได้ถูกยกเลิก และใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 แทนแล้วก็ตาม การดำเนินการเพื่อสั่งลงโทษโจทก์หรือสั่งให้โจทก์ออกจากราชการก็ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขซึ่งใช้อยู่ในขณะโจทก์กระทำผิดวินัยหรือมีกรณีที่สมควรให้ออกจากราชการก่อนวันที่ ก.พ. กำหนดตำแหน่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 121 ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2497 และที่แก้ไขจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ ๑ เงินเดือน ๑,๐๘๐ บาท สังกัดกรมราชทัณฑ์จำเลยที่ ๑ และอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ ๒ ครั้งสุดท้ายอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร โจทก์ถูกจำเลยที่ ๑ สั่งพักและไล่ออกจากราชการตามคำสั่งที่ ๙๓๕/๒๕๑๙ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. ๒๔๙๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๗๒ (ที่ถูกมาตรา ๑๒) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๙ และมาตรา ๑๒๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. ๒๕๑๘ อันเป็นการลงโทษไล่ออกจากราชการที่ไม่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย เพราะพระราชบัญญัติดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วจะนำมาตรา ๑๒๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ มาใช้ไม่ได้เพราะมาตรา ๑๑๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับแล้ว เพราะเกิน ๑ ปี ที่ถูกควรพิจารณาตามมาตรา ๘๕, ๘๖, และ ๙๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ เพราะโจทก์มิได้มีความผิดตามข้อกล่าวหาการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายคือต้องออกจากราชการไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนระหว่างถูกสั่งพักราชการในระหว่างพิจารณาของศาล และหลังจากศาลพิพากษาคดีจนคดีถึงที่สุดเป็นเวลา ๓๗ เดือนเศษ โจทก์เสียหายไม่ได้รับเงิน ๓๙,๙๖๐ บาท ขอเรียกค่าเสียหาย ๔๐,๐๐๐ บาท ขอให้ศาลพิพากษาว่าคำสั่งที่ ๙๓๕/๒๕๑๙ เป็นโมฆะ และให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาให้โจทก์ได้เข้ารับราชการตามตำแหน่งหน้าที่เดิมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันใช้เงิน ๔๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากราชการเพราะคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยซึ่งจำเลยตั้งขึ้นตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพื่อสอบสวนโจทก์ซึ่งต้องหาว่าใช้กำลังทำร้ายนักโทษชายสมนึก สินชัย คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยฟังว่าโจทก์มีความผิดตามข้อกล่าวหา ได้รายงานจำเลยจำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากราชการตามคำสั่งที่ ๙๓๕/๒๕๑๙ จำเลยได้รายงานการลงโทษโจทก์ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเรียกย่อว่า ก.พ. ทราบได้รับความเห็นชอบจากปลัดกระทรวงมหาดไทยและสำนักงาน ก.พ.แล้ว หากโจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบ ควรอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดแต่โจทก์ หาได้โต้แย้งหรืออุทธรณ์คำสั่งของจำเลยไม่ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยจะนำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๘๕ มาใช้ลงโทษโจทก์ไม่ได้เพราะถูกยกเลิกไปแล้ว และจะนำมาตรา ๑๒๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ มาใช้ก็ไม่ได้ เพราะมาตรา ๑๑๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับ เพราะเกิน ๑ ปีนั้น ไม่ตรงกับความเป็นจริงและข้อกฎหมายเพราะพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ เป็นบทเฉพาะกาลซึ่งบัญญัติว่าการลงโทษและการให้ออกจากราชการสำหรับข้าราชการพลเรือนที่กระทำผิดวินัยหรือมีกรณีที่สมควรให้ออกจากราชการอยู่ก่อนวันที่ ก.พ. ได้กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๓๒ คือก่อนวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นวันที่ ก.พ. กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในกรมจำเลยที่ ๑ โจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงก่อนวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๑๘ ต้องนำมาตรา ๑๒๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ มาใช้บังคับโดยต้องสั่งลงโทษตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คือพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๗๒, ๗๖, ๗๙, ๘๔(ซ), ๘๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗มาตรา ๑๑, ๑๒ ลงโทษไล่โจทก์ออกจากราชการ จำเลยพิจารณาลงโทษตามวินัยข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายมิได้กลั่นแกล้งโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาเฉพาะประเด็นเรื่องละเมิด
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กำหนดเวลา ๑ ปีตามมาตรา ๑๑๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ หมายถึงระยะเวลาที่ให้นำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. ๒๔๙๗ มาใช้บังคับไปพลางก่อนในระหว่างที่ ก.พ. ยังมิได้กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ส่วนมาตรา ๑๒๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. ๒๕๑๘ บัญญัติถึงเมื่อ ก.พ. ได้กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๓๒ แล้ว หากข้าราชการพลเรือนผู้ใดมีกรณีกระทำผิดวินัยหรือกรณีที่สมควรให้ออกจากราชการก่อนวันที่ก.พ. กำหนดตำแหน่งก็ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการเพื่อสั่งลงโทษผู้นั้น หรือสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ดังนี้ เมื่อกรณีการกระทำที่โจทก์ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงโทษทางวินัยได้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ก่อนที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ใช้บังคับ แม้โจทก์จะไปให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๑๙ ภายหลังที่โจทก์ได้รับการกำหนดตำแหน่งตามมาตรา ๓๒ ดังที่โจทก์ฎีกาซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๗ และที่แก้ไขได้ถูกยกเลิกและใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ แทนแล้วก็ตาม การดำเนินการเพื่อสั่งลงโทษโจทก์หรือสั่งให้โจทก์ออกจากราชการก็ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๗ และที่แก้ไขซึ่งใช้อยู่ในขณะโจทก์กระทำผิดวินัยหรือมีกรณีที่สมควรให้ออกจากราชการก่อนวันที่ ก.พ. กำหนดตำแหน่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ดังนั้นที่จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งที่ ๙๓๕/๒๕๑๙ ให้ไล่โจทก์ออกจากราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๙๗ และที่แก้ไขจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์แต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share