คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2332/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1488 (เดิม)บุคคลใดจะอ้างว่าการสมรสเป็นโมฆะไม่ได้ นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ แม้ขณะเจ้ามรดกจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ 1แต่เจ้ามรดกยังอยู่กินฉันสามีภริยากับ อ. ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และศาลยังมิได้พิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับเจ้ามรดกเป็นโมฆะ การสมรสจึงยังสมบูรณ์อยู่ โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับเจ้ามรดก จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก
โจทก์ที่ 2 ที่ 3 เข้าใจว่าเจ้ามรดกไม่มีทรัพย์สินอันใดอยู่อีกจึงได้ทำเอกสารไว้ต่อผู้จัดการมรดกตามที่ผู้จัดการสั่งให้ทำ ความว่าผู้จัดการมรดกได้แบ่งมรดกตามที่ควารได้ให้แก่ผู้รับไว้ถูกต้องแล้วผู้รับขอรับรองว่าหมดสิทธิในกองมรดกทั้งหมด เอกสารนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพราะโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ไม่มีข้อพิพาทอันใดต่อผู้จัดการมรดก และมิใช่เป็นการสละมรดกตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเดือน บุนนาค มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ จำเลยเป็นบุตรของนายเดือนซึ่งเกิดจากนางอารีย์ภรรยาคนที่ ๒ โดยอยู่กินเป็นสามีภรรยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕นายเดือนมีพี่น้องร่วมบิดามารดาคือนายเวศน์ บุนนาค และนางแสนสุขหรือง้าย แซ่เหลา รวม ๓ คนด้วยกัน ได้แก่นายมูลนายเดือน และนางวัน จักษุรักษ์หรือนางคณิตวิจารณ์ นายเดือนมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ๓ คน คือ นางเขียน มีบุตรด้วยกัน๑ คน นางอารีย์ มีบุตรด้วยกัน ๔ คนซึ่งจำเลยเป็นบุตรคนที่ ๔ และโจทก์ที่ ๑ มีบุตรด้วยกัน ๒ คน เมื่อนางแสนสุขหรือง้ายถึงแก่กรรมมีที่ดินมรดกตกทอดแก่บุตรทั้งสามรวม ๕ แปลงด้วยกัน นายเดือนและนางวันเป็นผู้ดูแลและเก็บผลประโยชน์ต่อเนื่องกันแทนทายาททุกคน โดยมีจำเลยเป็นผู้ดูแลและเก็บผลประโยชน์แทน ต่อมาเมื่อนายเดือนและนางวันถึงแก่กรรม นางวันไม่มีบุตรและสามีก็ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว ที่ดินมรดกส่วนของนางวันเนื้อที่ ๑ ไร่ ๑ งาน๓๒.๖๔ ตารางวา จึงตกแก่นายมูลและนายเดือนคนละส่วนโดยบุตรของคนทั้งสองรับมรดกแทนที่ แต่จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งว่าเป็นผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินทั้งห้าแปลงจนได้กรรมสิทธิ์ ศาลได้มีคำสั่งให้จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทั้งห้าแปลงนั้น และจำเลยได้โอนขายไปแล้ว ๑ แปลง โดยจำเลยไม่ยอมแบ่งมรดกเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสามให้ จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของศาลแพ่งที่สั่งให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ๕ แปลงดังกล่าว และเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงที่จำเลยขายไปแล้ว ให้จำเลยจดทะเบียนโอนมรดกส่วนของโจทก์ทั้งสามให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากไม่ปฏิบัติให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และหากเป็นการพ้นวิสัยก็ให้จำเลยใช้เงินให้แก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การว่า การสมรสระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับนายเดือนเป็นโมฆะ เพราะนายเดือนมีนางอารีย์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ เป็นบุตรนอกกฎหมายของนายเดือน ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ได้ทำหนังสือแสดงเจตนาสละมรดกแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นภรรยาและโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเดือน บุนนาค คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ที่พิพาทตกเป็นมรดกของนายเดือนสองในหกส่วนและตกทอดถึงทายาทซึ่งมีโจทก์ทั้งสามรวมอยู่ด้วย พิพากษาให้จำเลยส่งมอบที่ดินส่วนของโจทก์แต่ละคนให้โจทก์ครอบครองหากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หรือมิฉะนั้นให้ชำระราคาที่ดินแทน ฯลฯ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแสดงเจตนาสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๑๒ แล้ว จึงไม่มีสิทธิในกองมรดกอีก พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับฎีกาจำเลยที่ว่าโจทก์ที่ ๑ ไม่ใช่ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเดือนเจ้ามรดก เพราะนายเดือนยังคงอยู่กินฉันสามีภรรยากับนางอารีย์จนกระทั่งนายเดือนถึงแก่กรรมการสมรสระหว่างนายเดือนกับโจทก์ที่ ๑ จึงเป็นโมฆะ นั้น เห็นว่าแม้ขณะนายเดือนจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ ๑ นายเดือนยังคงอยู่กินฉันสามีภรรยากับนางอารีย์ มิได้ทิ้งร้างกันแต่ประการใดก็ตามแต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘๘ (เดิม)บุคคลใดจะอ้างว่าการสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้ นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น เมื่อศาลยังมิได้พิพากษาว่าการสมรสระหว่างนายเดือนกับโจทก์ที่ ๑ เป็นโมฆะ การสมรสก็ยังคงสมบูรณ์อยู่ โจทก์ที่ ๑ จึงเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเดือน และโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ ก็เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเดือน
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่พิพาททั้งห้าแปลงด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ตลอดมา เห็นว่า เมื่อนายเดือนถึงแก่กรรม นางวันเป็นผู้จัดการมรดกนายเดือนตามคำสั่งศาลเมื่อนางวันถึงแก่กรรม จำเลยก็ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก โดยอ้างว่านางวันจัดการมรดกไม่ทันจะเรียบร้อยก็มาถึงแก่กรรมเสียก่อน คำร้องขอดังกล่าวได้ระบุที่พิพาททั้งห้าแปลงเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนายเดือน จำเลยขอเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อจัดสรรแบ่งปันให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกต่อไปตามกฎหมายในชั้นไต่สวนคำร้องขอ จำเลยก็เบิกความยืนยันตามคำร้องขอ ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยครอบครองที่พิพาททั้งห้าแปลงตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ก่อนที่นายเดือนเจ้ามรดกจะถึงแก่กรรมจึงรับฟังไม่ได้ เมื่อจำเลยครอบครองที่พิพาทในฐานะผู้จัดการมรดก ก็เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ๆ ของเจ้ามรดกด้วย คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ แม้จำเลยจะได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาททั้งห้าแปลงตามคำสั่งศาล แต่เมื่อปรากฏว่าทายาทอื่นยังมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่พิพาทอยู่ คำสั่งศาลดังกล่าวก็ไม่อาจใช้ยันทายาทอื่นซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕(๒)
สำหรับฎีกาโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ว่า เอกสารหมาย ล.๙๘ เป็นเพียงหลักฐานการรับมรดกบางส่วนเท่านั้น หาใช่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ทั้งสองแสดงเจตนาสละมรดกไม่นั้น พิเคราะห์แล้วเอกสารดังกล่าวมีข้อความว่า
“บัดนี้ นางวัน คณิตวิจารณ์ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้จัดการแบ่งมรดกตามที่ควรได้เป็นจำนวนเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท(หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ไว้เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งผู้รับได้รับไว้ถูกต้องทุกประการแล้ว และขอรับรองไว้ในหนังสือนี้ด้วยว่า ข้าพเจ้าหมดสิทธิในกองมรดกทั้งหมดด้วย”
เอกสารฉบับนี้ลงชื่อโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ ในฐานะผู้รับมรดก โจทก์นำสืบประกอบเอกสารดังกล่าวซึ่งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่า โจทก์ที่ ๓เป็นคนเขียนตามแบบอย่างที่นางวันเอามาให้ดู นางวันบอกโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ ว่า นายเดือนมีหนี้สินมากหลังจากได้ชำระหนี้และค่าภาษีแล้วจึงได้แบ่งให้โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ คนละ ๕,๐๐๐ บาท โจทก์ทั้งสองเพิ่งมาทราบภายหลังว่านายเดือนยังมีที่พิพาทเป็นมรดกอยู่อีก เห็นว่า โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓กับนางวัน คณิตวิจารณ์ มิได้มีข้อพิพาทอันใดต่อกัน ข้อความตามเอกสารดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ เข้าใจในขณะนั้นว่าเจ้ามรดกไม่มีทรัพย์สินอะไรอยู่อีก จึงได้ทำเอกสารฉบับนั้นไว้ตามที่ผู้จัดการบอกให้ทำ หาใช่เป็นการสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๑๒ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ ยังมีสิทธิในกองมรดกอยู่ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฯลฯ

Share