คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2768/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนกับโจทก์ ถ้าผิดสัญญาโดยส่งตัวผู้ต้องหาไม่ได้ ยอมใช้เงินแก่โจทก์จำนวนหนึ่ง ต่อมาจำเลยส่งตัวผู้ต้องหาไม่ได้ โจทก์ถือว่าจำเลยผิดสัญญาสั่งปรับตามสัญญา ถึงแม้ต่อมาจะมีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมผู้ต้องหาพ้นความรับผิดโดยสิ้นเชิง และพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องแล้วก็ตาม ก็ย่อมไม่กระทบถึงสัญญาประกันระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นความรับผิดส่วนแพ่ง สัญญาประกันย่อมมีผลใช้บังคับไม่ถือว่าเป็นการชำระหนี้ที่พ้นวิสัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำสัญญาประกันผู้ต้องหา โดยจำเลยที่ ๒ มอบโฉนดที่ดินให้จำเลยที่ ๑ นำมาเป็นหลักประกัน จำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ประกันทั้งในนามตนเองและในนามจำเลยที่ ๒ สัญญาว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาแก่โจทก์ตามเวลาที่โจทก์กำหนดถ้าผิดนัดยอมใช้เงินให้โจทก์ ๓๐,๐๐๐ บาท จำเลยไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามวันที่โจทก์กำหนดโดยขอนัดส่งตัวหลายครั้งก็ส่งตัวไม่ได้ โจทก์สั่งปรับจำเลยตามสัญญา จำเลยไม่นำเงินค่าปรับมาชำระให้ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธความรับผิด
ก่อนเริ่มต้นสืบพยานจำเลยทั้งสองแถลงรับข้อเท็จจริงตามฟ้อง ฝ่ายโจทก์แถลงรับว่าได้มีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พ.ศ. ๒๕๒๑ ออกใช้บังคับเป็นผลให้การกระทำของผู้ต้องหาพ้นความรับผิดโดยสิ้นเชิง และพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาแล้ว แต่สั่งไม่ฟ้องโดยอาศัยเหตุอะไรไม่อาจยืนยันได้ ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรูปคดีโดยคู่ความไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาได้ความว่า เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากับโจทก์ขอปล่อยตัวนางสาวปัจฉิมาภรณ์ โชติโสภณ ผู้ต้องหาชั่วคราว (คดี ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙) ถ้าจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาส่งตัวผู้ต้องหาไม่ได้ยอมใช้เงินแก่โจทก์ ๓๐,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยที่ ๑ ส่งตัวผู้ต้องหาไม่ได้ ครั้งสุดท้ายนัดส่งตัววันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๑ ก็ส่งตัวไม่ได้ โจทก์ถือว่าจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาปรับเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ยังไม่ได้ชำระเงินแก่โจทก์ ต่อมามีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ ๔-๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ พุทธศักราช ๒๕๒๑ ออกใช้บังคับ เป็นผลให้ผู้กระทำผิดดังกล่าวพ้นความรับผิดโดยสิ้นเชิง สำหรับนางสาวปัจฉิมาภรณ์พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว เห็นว่ากรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องไม่ว่าจะเป็นเพราะนางสาวปัจฉิมาภรณ์ได้รับผลจากพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่กระทบถึงสัญญาประกันระหว่างโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นความรับผิดในส่วนแพ่ง สัญญาประกันย่อมมีผลใช้บังคับ ไม่เป็นการชำระหนี้ที่พ้นวิสัยดังจำเลยฎีกา และที่นางสาวปัจฉิมาภรณ์ต้องหาว่ากระทำผิดภายในเขตอำนาจของโจทก์ โจทก์ก็มีอำนาจสอบสวนควบคุมตัวและมีอำนาจปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันได้ แม้ต่อมาจะมีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมออกมาใช้บังคับอันเป็นผลให้นางสาวปัจฉิมาภรณ์พ้นความรับผิดโดยสิ้นเชิง พระราชบัญญัติดังกล่าวก็นิรโทษกรรมให้เฉพาะความผิดทางอาญาเท่านั้น ไม่มีบัญญัติถึงความรับผิดในส่วนแพ่งเลย เมื่อจำเลยผิดสัญญาส่งตัวนางสาวปัจฉิมาภรณ์ไม่ได้ก่อนที่พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมออกใช้บังคับโจทก์ก็ฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาได้
พิพากษายืน

Share